SEARCH

กูรูเตือนแบงก์สหรัฐเสี่ยงถูกแห่ถอนเงินฝาก หลังเฟดขึ้นดอกเบี้ย

การทดสอบที่สำคัญสำหรับ S&P500 ในวันนี้
ตลาดจับตา OPEC+ จะลดกำลังการผลิตหรือไม่และแค่ไหน
เยอรมนีต้องการให้รัฐมนตรีคลัง G7 โฟกัสกับการฟื้นฟูและการปกป้องสภาพภูมิอากาศ

นายบิล แอคแมน มหาเศรษฐีนักลงทุนและผู้บริหารกองทุนเฮดจ์ฟันด์เพอร์ชิง สแควร์ แสดงความกังวลว่า ระบบธนาคารสหรัฐอาจจะเผชิญกระแสเม็ดเงินฝากไหลออกมากขึ้น หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งล่าสุด และนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐกล่าวว่า รัฐบาลจะไม่ทำการรับประกันเงินฝากธนาคารทั้งหมด
“เราหมดหวังเรื่องการที่จะให้รัฐบาลเข้ามาปกป้องผู้ฝากเงิน หลังจากรัฐมนตรีคลังเจเน็ต เยลเลนแถลงว่า จะไม่มีการรับประกันเงินฝากธนาคารทั้งหมด

ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยของเฟดก็พุ่งขึ้นแตะระดับ 5% แล้ว และไม่ต้องแปลกใจ ถ้าหากเราจะเห็นว่ามีเม็ดเงินฝากไหลออกจากธนาคารอย่างรวดเร็ว การคุ้มครองเงินฝากในระบบธนาคารแบบชั่วคราวถือเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยห้ามเลือด (การแห่ถอนเงินฝาก) ยิ่งความไม่แน่นอนเกิดขึ้นยาวนานเท่าใด ความเสียหายที่มีต่อธนาคารขนาดเล็กก็จะฝังรากลึกมากเท่านั้น และเป็นเรื่องยากที่ธนาคารเหล่านี้จะเรียกความเชื่อมั่นของลูกค้าให้กลับคืนมา” นายแอคแมนโพสต์ข้อความบนทวิตเตอร์

การทวีตข้อความดังกล่าวมีขึ้น หลังจากนางเยลเลนได้เข้าชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการด้านบริการทางการเงินของสภาคองเกรสสหรัฐในวันพุธ (22 มี.ค.) ว่า บรรษัทค้ำประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FDIC) ไม่ได้พิจารณาที่จะรับประกันเงินฝากธนาคารทั้งหมด หลังจากเกิดเหตุการณ์ธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (เอสวีบี) และซิกเนเจอร์ แบงก์ (เอสบี) ล้มละลายในเดือนนี้

ขณะที่คณะกรรมการเฟดมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ในการประชุมเมื่อวันพุธเช่นกัน แม้ภาคธนาคารสหรัฐเผชิญวิกฤตการณ์อันเนื่องมาจากการล้มละลายของธนาคารเอสวีบี และเอสบีก็ตาม

ความเคลื่อนไหวของนางเยลเลนได้สร้างความผิดหวังให้กับนักลงทุน และเป็นสาเหตุที่ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐร่วงลง หลังจากที่ก่อนหน้านี้สื่อหลายสำนักรายงานว่า กระทรวงการคลังสหรัฐกำลังศึกษาแนวทางในการทำให้ FDIC สามารถคุ้มครองเงินฝากได้ทั้ง 100% จากปัจจุบันที่ให้การคุ้มครองไม่เกิน 250,000 ดอลลาร์

แหล่งข่าว กูรูเตือนแบงก์สหรัฐเสี่ยงถูกแห่ถอนเงินฝาก หลังเฟดขึ้นดอกเบี้ย, bangkokbiznews, 22 มี.ค. 2566

COMMENTS

WORDPRESS: 0
DISQUS: 0