SEARCH

มติเอกฉันท์ กนง. คงดอกเบี้ย 0.50% หนุนเศรษฐกิจเติบโต – หั่น GDP ปี 2565 เหลือ 3.4%

คริปโตจะสามารถใช้พลังงานหมุนเวียนได้หรือไม่?
รายงานเผย ตัวเลขการลงทุนธุรกิจ’บล็อกเชน’ไตรมาสที่ 2/65 ร่วง 22%
ทองคำแตะระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือน หลังวิกฤตยูเครนรุนแรงขึ้น

มติเอกฉันท์ กนง. คงดอกเบี้ยที่ 0.50% จาก COVID-19 สายพันธุ์ Omicron เป็นความเสี่ยงสำคัญต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโดยรวมในระยะข้างหน้า จึงเห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่องจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม พร้อมหั่น จีดีพีปีหน้า เหลือโต 3.4% จากเดิม 3.9%

นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ครั้งที่ 8/2564 ในวันที่ 22 ธ.ค.2564 ว่าคณะกรรมการมีมติเอกฉันท์ คงดอกเบี้ยที่ 0.50%

คณะกรรมการ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นชั่วคราวจากราคาพลังงานเป็นหลัก แต่ยังต้องติดตามพัฒนาการเงินเฟ้อโลกและการส่งผ่านต้นทุน ทั้งนี้ การระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron เป็นความเสี่ยงสำคัญต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโดยรวมในระยะข้างหน้า จึงจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

คณะกรรมการ เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่องจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ ประกอบกับมาตรการทางการเงินการคลังที่มีความต่อเนื่อง

คณะกรรมการ คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 0.9 ในปี 2564 และจะขยายตัวต่อเนื่องในปี 2565 และ 2566 ที่ร้อยละ 3.4 และ 4.7 ตามลำดับ จากการฟื้นตัวของการใช้จ่ายในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะทยอยกลับมามากขึ้น ทั้งนี้ การฟื้นตัวในหลายสาขาธุรกิจมีแนวโน้มปรับดีขึ้นสอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ประเมินว่าการระบาดของสายพันธุ์ Omicron จะกระทบเศรษฐกิจในช่วงแรกของปี 2565 โดยยังมีความเสี่ยงด้านต่ำที่ผลกระทบอาจรุนแรงและยืดเยื้อกว่าคาด ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสถานการณ์การระบาดและความเข้มงวดของมาตรการควบคุม นอกจากนี้ ยังต้องติดตามการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะการจ้างงานและรายได้แรงงานที่ยังอยู่ต่ำกว่าช่วงก่อนการระบาด

แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลาง คาดว่าจะอยู่ในกรอบเป้าหมาย และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2564 , 2565 และ 2566 จะอยู่ที่ร้อยละ 1.2 1.7 และ 1.4 ตามลำดับ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเพิ่มขึ้นชั่วคราวจากปัจจัยด้านอุปทานโดยเฉพาะราคาพลังงาน ซึ่งคาดว่าจะคลี่คลายในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ทั้งนี้ โอกาสที่แรงกดดันเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นได้ต่อเนื่องยังมีไม่มากจากความสามารถในการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการที่ยังจำกัดจากเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว รวมถึงการจ้างงานและรายได้แรงงานที่ยังเปราะบาง อย่างไรก็ดี คณะกรรมการ ประเมินว่ายังมีความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้อจะสูงกว่าคาดในบริบทที่เงินเฟ้อโลกปรับสูงขึ้นเร็ว โดยจะติดตามพัฒนาการของปัจจัยข้างต้นอย่างใกล้ชิด

แหล่งข่าว มติเอกฉันท์ กนง. คงดอกเบี้ย 0.50% หนุนเศรษฐกิจเติบโต – หั่น GDP ปี 2565 เหลือ 3.4%, bangkokbiznews, 22 ธ.ค. 2564

COMMENTS

WORDPRESS: 0
DISQUS: 0