SEARCH

จ่อขึ้น “ค่าแรง” ปีนี้ กระทบหุ้นตัวไหนบ้าง?

ราคาน้ำมันอยู่ทิศทางเพิ่มขึ้น 2% ในรอบสัปดาห์
SCB พักเบรก |ออฟเรคคอร์ด
หุ้นไทยเดือน มิ.ย.65 ยังเสี่ยงหวั่นสหรัฐฯ เข้มนโยบายการเงินฉุดตลาดผันผวน

รองประธานสภาองค์กรนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรม ธนิต โสรัตน์ เสนอว่าการขึ้นค่าแรงควรสอดรับกับเงินเฟ้อปีนี้ที่ไม่เกิน 5% สำหรับความคืบหน้าในการปรับขึ้นค่าแรง ขณะนี้คณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำของแต่ละจังหวัดอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งน่าจะได้เห็นความชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง

บล.ฟินันเซีย ไซรัส ได้ประเมินผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรง ภายใต้สมมติฐานว่ามีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในอัตรา 5-10% หรือ เพิ่มขึ้น 17-33 บาทต่อวัน โดยกำหนดให้ปัจจัยอื่นคงที่ พบว่า

1. กลุ่มร้านอาหาร จะได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากเป็นธุรกิจบริการที่ใช้พนักงานค่อนข้างมาก มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายพนักงานสูงราว 38.5% ของต้นทุนและค่าใช้จ่ายทั้งหมด กรณีปรับขึ้นค่าแรง 5-10% จะกระทบกำไรสุทธิปี 2566 ราว 7.8% และ 15.3% ตามลำดับ เช่น บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ZEN ค่าแรงคิดเป็น 29% ของต้นทุนทั้งหมด กระทบกำไรสุทธิ 8.3% และ 16.5% ตามลำดับ บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ M ค่าแรงคิดเป็นสัดส่วน 48% กระทบกำไรสุทธิ 7.2% และ 14% ตามลำดับ

2. กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม มีสัดส่วนต้นทุนแรงงานเฉลี่ย 11.4% ของต้นทุนทั้งหมด คาดกำไรสุทธิจะถูกกระทบ 3.8% และ 7.7% ตามลำดับ เช่น บริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) หรือ GFPT ค่าแรงมีสัดส่วน 12% คาดกระทบกำไรสุทธิ 5.5% และ 10.9% ตามลำดับ บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ICHI ค่าแรงมีสัดส่วน 6.4% คาดกระทบกำไรสุทธิ 2% และ 4% ตามลำดับ

3. กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ มีสัดส่วนต้นทุนแรงงานเฉลี่ย 5.4% ของต้นทุนทั้งหมด คาดกำไรสุทธิจะถูกกระทบจำกัดราว 2% และ 3.9% ตามลำดับ เช่น บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA ค่าแรงคิดเป็นสัดส่วน 6.5% คาดกระทบกำไรสุทธิ 3.3% และ 6.6% ตามลำดับ บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE ค่าแรงคิดเป็นสัดส่วน 7% คาดกระทบกำไรสุทธิ 1.4% และ 2.9% ตามลำดับ

4. กลุ่มเกษตรต้นน้ำ เช่น ถั่วเหลือง น้ำตาล ยางพารา และมันสำปะหลัง คาดได้รับผลกระทบน้อยที่สุด โดยค่าแรงคิดเป็นสัดส่วนเพียง 1.6% ของต้นทุนทั้งหมด คาดกำไรสุทธิจะถูกกระทบเพียง 1% และ 1.9% ตามลำดับ เช่น บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL ค่าแรงมีสัดส่วน 3% ของต้นทุนทั้งหมด คาดกระทบกำไรสุทธิ 1% และ 2% ตามลำดับ บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA ค่าแรงมีสัดส่วน 1.5% คาดกระทบกำไรสุทธิ 1% และ 1.9% ตามลำดับ

ด้าน บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า มีมุมมองเป็นลบเล็กน้อยต่อกลุ่มค้าปลีกที่ฝ่ายวิจัยศึกษา จากประเด็นการขยับเพดานราคาดีเซลและการเรียกร้องปรับขึ้นค่าแรง ซึ่งจะกระทบต้นทุนการดำเนินงานระยะสั้นปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนแรงงานที่คิดเป็น 6.4% ของรายได้ในปี 2565

ซึ่งผู้ประกอบการที่มีสัดส่วนต้นทุนแรงงานมากสุดคือ บริษัท อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ ILM 17% ของรายได้ ตามด้วยบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC และ บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ HMPRO ที่ 8% ของรายได้ ขณะที่ค่าขนส่งส่วนใหญ่อยู่ที่ราว 1-2% ของรายได้ ซึ่งปกติมักผลักภาระให้คู่ค้าและผู้บริโภคได้อยู่แล้ว ความกังวลหลักจึงอยู่ที่การปรับค่าแรงขั้นต่ำ

หากใช้สมมติฐานขึ้นค่าแรงเฉลี่ย 10% จากฐานปัจจุบัน 331 บาทต่อวัน และสัดส่วนพนักงานระดับปฎิบัติการ 50% ของพนักงานรวม คาดกระทบต่อประมาณการกำไรของกลุ่มราว 7-8%
อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวน่าจะเป็นบวก จากกำลังซื้อและยอดขายสาขาเดิมที่เพิ่มขึ้น ช่วยกลบส่วนต่างต้นทุนที่สูงขึ้นได้ จึงไม่กระทบต่อปัจจัยพื้นฐานอย่างมีนัยสำคัญ

แหล่งข่าว จ่อขึ้น “ค่าแรง” ปีนี้ กระทบหุ้นตัวไหนบ้าง?, bangkokbiznews, 01 พ.ค. 2565

COMMENTS

WORDPRESS: 0
DISQUS: 0