ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนนำมาสู่มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียจากหลายประเทศ เช่น สหรัฐ สหภาพยุโรป (อียู) อังกฤษ ญี่ปุ่น ซึ่งที่ผ่านมามีบริษัทไทยหลายแห่งเข้าไปทำธุรกิจในรัสเซียและกำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
สำหรับตลาดรัสเซียถือเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพของผู้ส่งออกไทย ในขณะที่มีบริษัทไทยหลายรายไปลงทุนในรัสเซีย เช่น บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ได้ลงทุนผลิตอาหารสัตว์และเลี้ยงสุกร ในขณะที่บริษัทไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้ขยายธุรกิจเข้าสู่รัสเซียผ่านเข้าซื้อหุ้นบริษัท TUMD Luxembourg Sàrl
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กล่าวว่า เรื่องความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และนาโต้ ถือว่า เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลก แต่อย่างไรก็ตาม คิดว่าในวิกฤติก็ยังเป็นโอกาสในกรณีที่เกิดสงคราม
แต่จริงๆ แล้วภูมิภาคอาเซียนและประเทศไทยเองยังถือว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ผลกระทบจะเกิดขึ้นมากในฝั่งยุโรป ส่วนสหรัฐแม้จะอยู่ไกลแต่ก็น่าจะมีผลกระทบบ้าง
“ผมคิดว่าถ้าเราเดาใจรัสเซียนี่จะเป็นจังหวะเวลา เป็นไทม์มิ่งที่เหมาะสมที่จะสร้างอำนาจต่อรองกับเหล่าประเทศยุโรปและพยายามไม่ให้ยูเครนเป็นปรปักษ์ต่อตนเอง และผมคิดว่าคงไม่มีใครตั้งใจให้ไปถึงการเกิดภาวะสงคราม ดังนั้นในตอนนี้ เราต้องมองในแง่บวกไว้ก่อน” นายศุภชัย กล่าว
ส่วนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะเริ่มเห็นสัญญาณไปในทางบวกในไตรมาส 3 ปี 2023 ซึ่งเศรษฐกิจโลกจะทยอยฟื้นตัวภายใต้ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญโดยเฉพาะโควิด-19 ซึ่งส่วนตัวมองว่าจะเป็นโอกาสของแต่ละธุรกิจที่จะเตรียมตัวและตั้งตัวเพื่อไปสู่ธุรกิจหลังโควิด
ขัดแย้งนานกระทบธุรกิจไทย
นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาธุรกิจไทย-รัสเซีย กล่าวว่า สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนเป็นสถานการณ์ที่ภาคธุรกิจให้ความสนใจและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเนื่องไทยและรัสเซียมีความสัมพันธ์และกิจกรรมทางเศรษฐกิจร่วมกัน
ทั้งนี้ สิ่งที่น่ากังวลในขณะนี้อยู่ที่ความไม่แน่นอนของสถานการณ์หลังจากที่หลายประเทศออกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย ซึ่งจะทำให้การทำธุรกรรมระหว่างนักธุรกิจไทยและรัสเซียมีขั้นตอนและต้นทุนทางการเงินเพิ่มมากขึ้น เพราะนักธุรกิจไทยและรัสเซียอาจทำธุรกรรมการเงินผ่านธนาคารในรัสเซียไม่ได้และทำให้ต้องดำเนินการผ่านธนาคารในประเทศอื่น
สำหรับรัสเซียถือเป็นคู่ค้าสำคัญของไทยจัดอยู่ในกลุ่มตลาดใหม่ รวมทั้งมีนักท่องเที่ยวรัสเซียเดินทางมาประเทศไทยมากถึง 1.5 ล้านคนต่อปีในช่วงโควิด-19 และเป็นนักท่องเที่ยวที่อยู่ในไทยเป็นระยะเวลานานมีการใช้จ่ายในเกณฑ์ที่สูงหากมีความขัดแย้งที่รุนแรงบานปลายจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยได้
นอกจากนี้ ไทยกับรัสเซียมีการตั้งเป้าหมายความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่เป็นการค้าการลงทุนระหว่าง 2 ประเทศไว้ที่ 3.5 แสนล้านบาทต่อปี หรือประมาณ 1 หมื่นล้านดอลาร์สหรัฐ แต่ยังไม่ถึงเป้าหมายดังกล่าวได้
โดยในปี 2564 ที่ผ่านมาไทยส่งออกสินค้าไปยังรัสเซียเป็นมูลค่า 1,027 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 41.68% โดยมีสินค้าที่ส่งออกสำคัญ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์รถยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักร เม็ดพลาสติก และผลไม้แปรรูป
ส่วนรัสเซียส่งออกสินค้ามายังไทยเป็นมูลค่า 1,278 ดอลลาร์ โดยมีสินค้า 5 อันดับที่รัสเซียส่งมาไทย ได้แก่ น้ำมันดิบ ปุ๋ย เหล็ก และสินค้าแร่ เป็นต้น ส่วนประเทศยูเครนนั้นไทยยังไม่มีธุรกรรมทางเศรษฐกิจกับไทยมากนัก โดยในปี 2564 ไทยส่งออกสินค้าไปยูเครนเป็นมูลค่าเพียง 134.79 ดอลลาร์
แหล่งข่าว ธุรกิจไทยจับตา“รัสเซีย-ยูเครน” ขัดแย้งนานฉุดส่งออก-ท่องเที่ยว, bangkokbiznews, 24 ก.พ. 2565
COMMENTS