“ราคาน้ำมันดิบ” ตลาดโลกปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรง ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หลังสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย แม้จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกยังสูงจากการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน แต่แนวโน้มผู้ป่วยอาการหนักลดลง
หนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง ทั้งภาคการผลิต การค้า การลงทุน การเดินทาง การท่องเที่ยว ประกอบกับเป็นช่วงฤดูหนาว ทำให้มีดีมานด์ความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกันหลายพื้นที่ของสหรัฐ หนึ่งในประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก เผชิญกับสภาพอากาศที่หนาวจัด มีฝนตกหนัก เกิดพายุหิมะพัดถล่ม ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำมัน ทำให้ซัพพลายทั้งโลกยังอยู่ในภาวะตึงตัว
ส่วนกลุ่มโอเปกพลัสยังยึดตามข้อตกลงเดิมที่จะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเพียง 400,000 บาร์เรลต่อวันในเดือนมี.ค. นี้ ซึ่งดูแล้วไม่น่าเพียงพอกับดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นอย่างร้อนแรง
นอกจากนี้ ยังต้องติดตามสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครน ซึ่งหากปะทุขึ้นเป็นสงคราม และรัสเซียหยุดส่งออกน้ำมันจะยิ่งทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น
โดยปัจจุบันราคาน้ำมันดิบตลาดโลกทะยานแตะจุดสูงสุดในรอบ 8 ปี ยืนเหนือ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เรียกว่ากลับสู่ขาขึ้นอย่างชัดเจน หลังเคยลงไปต่ำกว่า 10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เมื่อช่วงต้นปี 2563 ที่โควิดระบาดหนัก จนต้องปิดเมืองปิดประเทศไปทั้งโลก
ด้าน “โกลด์แมน แซกส์” คาดคาดการณ์ว่าปีนี้จะได้เห็นราคาน้ำมันพุ่งแตะระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และแน่นอนว่าเมื่อน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น ย่อมส่งผลให้ราคาสินค้าและเงินเฟ้อพุ่งตามไปด้วย
โดยล่าสุดเงินเฟ้อของสหรัฐเดือนม.ค. ที่ผ่านมา แตะระดับ 7.5% สูงสุดในรอบ 40 ปี ซึ่งต้องรอติดตามว่าหากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยจะรับมือกับภาวะเงินเฟ้อได้มากน้อยแค่ไหน เพราะย่อมมีผลทางอ้อมต่อทิศทางราคาน้ำมันด้วยเช่นกัน
บล.โนมูระ พัฒนสิน ได้มีการประเมินผลที่จะเกิดขึ้นรายอุตสาหกรรม ในกรณีที่ราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ดังนี้
– กลุ่มที่ได้รับประโยชน์โดยตรง ได้แก่ กลุ่มพลังงาน จากอัตรากำไรที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจต้นน้ำ และกำไรจากสต็อกน้ำมัน (stock gain) ของโรงกลั่น ช่วยชดเชยผลกระทบจากสเปรดปิโตรเคมีที่ลดลง หนุนประมาณการกำไรเพิ่มขึ้น 3.2%
– กลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ได้แก่ กลุ่มโรงไฟฟ้าและการบิน
– กลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม จากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนวัตถุดิบและราคาสินค้า ได้แก่ กลุ่มอสังหาฯ, รับเหมาก่อสร้าง, การเงิน, ยานยนต์, นิคมอุตสาหกรรม, ร้านอาหาร, เกษตร, อิเล็กทรอนิกส์
– กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจำกัด ได้แก่ เฮลธ์แคร์, ไอซีที, ธนาคาร, โรงแรม
สำหรับหุ้นที่ฝ่ายวิจัยแนะนำรับกระแสน้ำมันขาขึ้น
1. กลุ่มโรงกลั่น มีบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP เป็นหุ้นเด่นประจำกลุ่ม รับอานิสงส์จากกำไรสต็อกน้ำมัน ส่วนธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) ได้ประโยชน์จากปริมาณขายและราคาขายเฉลี่ย (ASP) ที่เพิ่มขึ้น ช่วยชดเชยค่าการตลาดที่ชะลอตัวลง โดยมีบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เด่นรองลงมา
2. กลุ่มธนาคารและประกัน ได้แรงหนุนจากเงินเฟ้อที่สูงตามราคาน้ำมัน และแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น โดยมีหุ้นเด่น คือ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK, ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB และ บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ BLA
3. กลุ่มสื่อสาร แทบไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำมันขาขึ้น แต่ด้วย Valuation ที่ถูกและปันผลสูง ถือเป็น Value Stock ที่จะ Outperform ตลาด แนะนำบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC
4. กลุ่มโรงไฟฟ้า โดยมองว่าบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG จะไม่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นเหมือนบริษัทอื่นๆ ในกลุ่ม เนื่องจากต้นทุนหลักมาจากค่าเสื่อมราคาของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ขณะที่ราคาขายไฟฟ้าไม่ได้รับผลกระทบเช่นกัน ประกอบกับ PER ต่ำเพียง 13 เท่า
แหล่งข่าว น้ำมันจ่อทะลุ 100 ดอลลาร์ หุ้นไหนได้ประโยชน์-เสียประโยชน์?, bangkokbiznews, 13 ก.พ. 2565
COMMENTS