การระบาดของโรคโควิด-19 ที่เริ่มมาตั้งแต่ต้นปี 2563 ได้สร้างปัญหาหนี้เสียที่เพิ่มสูงขึ้น จากข้อมูลของเครดิตบูโรพบว่า ในช่วง 2 ปีครึ่ง นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สถาบันการเงินได้ขายหนี้เสียออกมารวมแล้วกว่า 1.37 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นหนี้สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล
แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินซึ่งเป็นสมาชิกใน บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ(เครดิตบูโร) กล่าวว่า จากรายงานข้อมูลสถิติการขายหนี้ที่มียอดค้างชำระเกิน 90 วัน หรือ “หนี้เสีย”(NPL) แยกตามประเภท สถาบันการเงิน และแยกตามชนิดของสินเชื่อในช่วง 2 ปีครึ่ง ที่ผ่านมา นับตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิด-19 หรือ ข้อมูลรายงานสถิติการขายบัญชีสินเชื่อรหัสสถานะบัญชี 42 (ตั้งแต่ปี 2563 – ไตรมาส 2ปี2565) พบว่า ในช่วง 2ปีครึ่งที่ผ่านมา มีบัญชีหนี้ที่ถูกขายออกจากระบบสถาบันการเงิน นอนแบงก์ทั้งระบบที่เป็นสมาชิกเครดิตบูโร คิดเป็นมูลหนี้รวมประมาณ 1.37 แสนล้านบาท หรือราว 9.2 แสนบัญชี
โดยเฉพาะ ครึ่งแรกของปี 2565 พบว่า มีจำนวนเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด หากเทียบกับช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยมีหนี้เสียที่ถูกขายออกรวมกว่า 39,994 ล้านบาท เกือบเท่ากับทั้งปีของปี 2563 ที่มีการขายหนี้ออกมาสู่ระบบทั้งสิ้น 40,092 ล้านบาท ขณะที่ทั้งปี 2564 มีหนี้เสียจากระบบแบงก์ นอนแบงก์ ถูกขายออกมาสู่ระบบทั้งสิ้นที่ 54,827 ล้านบาท
ทั้งนี้ หากดูหนี้ที่ถูกโอนขายในช่วง 2 ปีครึ่งที่ผ่านมา ตามประเภทสมาชิก พบว่า ปี 2563 แบงก์ขายหนี้ออกมาสู่ระบบ 34,559 ล้านบาท ปี 2564 ขายออกรวม50,105 ล้านบาท จากหนี้ทั้งหมดที่ถูกขายออกมาในระบบรวม 56,827 ล้านบาทส่วนครึ่งแรกของปี 2565 แบงก์นำหนี้ออกมาขายรวมแล้วประมาณ 38,678 ล้านบาท
แหล่งข่าว พิษโควิด 2ปีครึ่ง แบงก์-นอนแบงก์ ขายหนี้เสียพุ่ง 1.37แสนล้าน, bangkokbiznews, 25 ต.ค. 2565
COMMENTS