SEARCH

ลงทุน “ทองคำ” ในยุคดิจิทัล ยังใช่คำตอบของการลงทุนหรือไม่?

หุ้นเอเชียทรงตัว ดอลลาร์แข็งค่า ตลาดประเมินแนวโน้มเหยี่ยว
การวิเคราะห์คลื่นก๊าซธรรมชาติ วันที่ 30 ธันวาคม 2564
S&P หั่นเครดิตรัสเซียสู่ระดับ CC หวั่นผิดนัดชำระหนี้บอนด์สกุลดอลล์-ยูโร

วันนี้ #ThairathMoney จะพาไปหาคำตอบว่า การลงทุนในทองคำในปัจจุบันยังน่าสนใจอยู่ไหม แล้วความเชื่อที่ว่าทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ดีที่สุดสำหรับการเก็บเงินในระยะยาว จะยังใช้ได้อยู่ไหม ไปหาคำตอบกัน

หากดูราคาทองคำแท่ง 96.5% ในช่วง 10 ปีย้อนหลัง พบว่าในปี 2556 ราคาทองคำเคลื่อนไหวที่ราคาต่ำสุด 17,800 บาท และสูงสุดที่ 24,350 บาท โดยปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ซึ่งในปี 2566 นี้ราคาทองคำเคลื่อนไหวต่ำสุดที่ 29,650 และสูงสุดที่ 32,850 บาท คิดเป็นผลตอบแทนจากส่วนต่างราคาทองคำสูงสุดราว 84.55%

นายธนรัชต์ พสวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มฮั่วเซ่งเฮง ผู้ค้าทองและนักวิเคราะห์การลงทุนทองคำ กล่าวว่า การเก็บเงินไว้ในทองคำ มีข้อดีคือผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ และความผันผวนด้านราคาต่ำ

ปัจจุบันทองคำได้รับความสนใจมากขึ้น หลังช่วงที่ผ่านมามีประเด็นความเสี่ยงต่างๆ เข้ามามากมาย โดยเฉพาะภาวะเงินเฟ้อ ทำให้สหรัฐฯ มีการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้หลายประเทศที่ต้องพึ่งพาเงินดอลลาร์มีภาระการชำระหนี้ที่สูงขึ้น และมีท่าทีต้องการทำการซื้อขายกันในสกุลเงินอื่นที่ไม่ใช่ดอลลาร์มากขึ้น ทองคำจึงเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ได้รับความสนใจมากขึ้นอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี การลงทุนในทองคำปัจจุบันมีหลายรูปแบบ เช่น การซื้อขายแบบจ่ายเต็มราคาและรับทองคำแท่ง การส่งคำสั่งซื้อทางอิเล็กทรอนิกส์ และการลงทุนผ่านสินทรัพย์ทางการเงินต่างๆ ผ่านทางบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เช่น ฟิวเจอร์ส หรือ อีทีเอฟ ซึ่งอาจจะใช้เงินลงทุนในจำนวนที่น้อยกว่าการซื้อทองรูปพรรณ แต่ก็มีเรื่องของความเสี่ยงและความเข้าใจที่ตามมา ซึ่งผู้ที่สนใจลงทุนในช่องทางดังกล่าวจะต้องศึกษาหาความรู้และทำความเข้าใจก่อนการลงทุน

ส่วนการทยอยซื้อสะสมแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน (DCA) ในทองคำ ค่อนข้างได้รับผลตอบแทนที่ดี และได้รับความนิยมในวงกว้าง ถึงแม้ราคาจะปรับตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่องหลายคนก็ยังให้ความสนใจในการออมทอง เพราะมองถึงผลตอบแทนในระยะยาว ในภาวะเศรษฐกิจโลกปัจจุบัน

ทั้งนี้ผู้ที่สนใจลงทุนในทองคำ จะต้องเรียนรู้ในเรื่องของการกำหนดสัดส่วนของเงินที่จะนำมาลงทุน ว่าใช้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งควรจะเป็นเงินที่เหลือจากค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หรือเป็นเงินออมที่ไม่มีภาระหนี้สิน เพื่อแบ่งส่วนออกมาลงทุนและได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้นโดยรวมได้

นายธนรัชต์ กล่าวอีกว่า สำหรับความเสี่ยงสำหรับการลงทุนในทองคำ มองว่าคล้ายกับการลงทุนในหลายประเภท คือการขาดทุนจากส่วนต่างราคา และค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost) แต่เสน่ห์ของทองคำคือความต่างจากสินทรัพย์การลงทุนอื่นๆ เนื่องจากเป็นของที่จับต้องได้ และนิยมมอบให้กันสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน

แหล่งข่าว ลงทุน “ทองคำ” ในยุคดิจิทัล ยังใช่คำตอบของการลงทุนหรือไม่?, ไทยรัฐ, 10 พ.ค. 2566

COMMENTS

WORDPRESS: 0
DISQUS: 0