แม้ว่าสถานการณ์การต่อสู้กับเงินเฟ้อของสหรัฐและยุโรป กำลังไปได้ด้วยดี เงินเฟ้อเริ่มลดลงตามลำดับ อาวุธที่ใช้ต่อสู้กับเงินเฟ้อก็คือการขึ้นอัตราดอกเบี้ย เกือบจะชนะอยู่แล้ว แต่ผลข้างเคียงของอาวุธร้ายแรงชนิดนี้ ย้อนกลับมาทำลายระบบการเงิน ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจของสหรัฐและยุโรปอย่างเจ็บปวด
วันที่ 10 มี.ค.2566 ทางการสหรัฐสั่งปิดธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ (Silicon Valley Bank : SVB) svb ก่อตั้งในปี 2526 ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่ช่วยสนับสนุนพวกบริษัทสตาร์ตอัปและบริษัทกองทุนร่วมทุน (VC) หลายแห่งทั่วโลก เริ่มส่งสัญญาณไม่ดี
โดยบริษัทกองทุนร่วมทุนเหล่านั้น ได้บอกให้บริษัทในเครือข่ายถอนเงินออกจากธนาคาร ทำให้ลูกค้าที่มีเงินฝากกับธนาคารต่างแห่ถอนเงินฝากออกจากธนาคาร นี่คือเหยื่อรายแรกของสึนามิการเงินโลก
ต่อมาเพียง 2 วัน ในวันที่ 12 มี.ค.2566 ก็ปรากฏเหยื่อรายที่สอง ได้แก่ ธนาคารซิกเนเจอร์ (Signature Bank) ก่อตั้งในปี 2520 เน้นปล่อยกู้ให้กับอุตสาหกรรมคริปโทเคอร์เรนซี
เหตุที่ต้องปิดตัวลงเนื่องจากลูกค้าของธนาคารได้แห่เข้าถอนเงินจากธนาคารซิกเนเจอร์ รวมกันมากกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์
จากความวิตกกังวลต่อกรณีของการปิดธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ ส่งผลให้สถาบันคุ้มครองเงินฝากรัฐบาลกลางสหรัฐ (FDIC) เข้ามาดูแลและระบุว่าผู้ฝากเงินทั้งหมดของทั้งสองธนาคารนี้จะได้รับการคุ้มครอง
ต่อมาไม่กี่ชั่วโมง ก็ปรากฏชื่อเหยื่อรายที่สาม ซึ่งถูกปิดไปก่อนธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ไม่กี่วัน แต่ชื่อเพิ่งโผล่มา ได้แก่ ธนาคารซิลเวอร์เกต (Silvergate Bank) ก่อตั้งในปี 2531
ธนาคารนี้ล้มลงหลัง Silvergate Capital Corp ประกาศยุติการดำเนินงานและขายสินทรัพย์ของธนาคารออกไป
เนื่องจากประสบปัญหาด้านการเงินอย่างรุนแรง ราคาหุ้นของบริษัทลดลงไปถึง 99% เดิมทีธนาคารนี้ปล่อยกู้ด้านอสังหาริมทรัพย์และศูนย์การค้า ต่อมาในปี 2556 เริ่มปล่อยกู้ให้กับอุตสาหกรรมคริปโทเคอร์เรนซี
กลางดึกวันที่ 15 มี.ค.2566 ก็ปรากฏชื่อของเป้าหมาย ร่างใหญ่ ชื่อคุ้นหู รายถัดไปของสึนามิ คือ เครดิตสวิส (Credit Suisse) ซึ่งเป็นธนาคารยักษ์ใหญ่อันดับ 2 ของสวิตเซอร์แลนด์ รองจากธนาคารยูบีเอส (UBS)
เครดิตสวิสก่อตั้งในปี 2399 อายุยาวนานถึง 167 ปี มีขนาดทางการเงินใหญ่กว่า 3 ธนาคารแรกมาก มีความเชื่อมโยงกับธนาคารใหญ่ๆ ทั้งในยุโรปและสหรัฐ
แต่ภายใต้ความใหญ่ของเครดิตสวิสยังมีความเปราะบางให้เห็น เพราะธนาคารแห่งชาติซาอุดีอาระเบีย (Saudi National Bank) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายสำคัญเกือบร้อยละ 10 จะไม่ลงทุนถือหุ้นเพิ่ม
ส่งผลให้ตลาดทุนในยุโรปเกิดความกังวลและทรุดตัวลงอย่างมาก เฉพาะตัวเครดิตสวิสเองร่วงลงถึง 30% ทำให้หน่วยงานกำกับดูแลของสวิสให้คำมั่นว่า จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับธนาคารเครดิตสวิส
โดยธนาคารจะกู้ยืมเงินจากธนาคารแห่งชาติสวิตเซอร์แลนด์ราวๆ 5 หมื่นล้านฟรังก์สวิส หรือประมาณ 1.86 ล้านล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่อง ปัญหาของภาคการเงินในสหรัฐและยุโรป ทำให้เมื่อวันที่ 15 มี.ค.2566 ตลาดหุ้นสหรัฐ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อังกฤษ ร่วงตามกันไป เช่นเดียวกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลงอย่างมากทั้งดูไบ เบรนต์ และเวสต์เท็กซัส มาอยู่ที่ 77.9, 73.7 และ 67.4 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล โดยเฉพาะเบรนต์และเวสต์เท็กซัสเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 450 และ 467 วัน ตามลำดับ
แหล่งข่าว สึนามิการเงินโลกกระทบไทยอย่างไร | พงศ์นคร โภชากรณ์ , bangkokbiznews, 17 มี.ค. 2566
COMMENTS