เศรษฐกิจไทยจะกลับเข้าสู่ช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ปลายปีหรือต้นปี 2566 “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รัฐมนตรีคลัง ยาหอมเอาไว้ เพื่อให้คนไทยสบายใจ ไม่ต้องกังวลกับปัญหาเศรษฐกิจ
“เศรษฐกิจไทยไม่ได้เข้าสู่ภาวะถดถอยและเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น” แต่เมื่อมองไปข้างหน้าอยู่ในลักษณะทะยาน
หากเป็นไปตามคาดการณ์อย่างนี้จริงก็พอจะเบาใจได้ว่าจะไม่เกิดปัญหาจนทำให้ต้องมานั่งปวดหัว เพราะ 2 ปีที่ผ่านมา เจอโควิด-19 เข้าไป ทุกข์ระทมกันไปทั้งประเทศ
ปัญหาวันนี้ก็คือเรื่อง “เงินเฟ้อ” ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในรอบ 13 ปี ซึ่งแสดงถึงผลกระทบที่ประชาชนได้รับจาก ค่าครองชีพที่สูงขึ้น
ยิ่งสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังไม่มีท่าทีที่จะสงบลงได้โดยเร็ว ราคานํ้ามัน ก๊าซก็จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ราคาสูงขึ้น
“หนี้ครัวเรือน” ก็จะสูงขึ้น ประชาชนก็จะเดือดร้อนมากขึ้น
ไทยเคยมีประสบการณ์ที่เกิดจากปัญหาหนี้สินมาก่อนหน้านี้อยู่ 2 ลักษณะ คือ 1.หนี้ภาครัฐ ซึ่งรัฐบาลสร้างหนี้ขึ้นมา และมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ 2.หนี้ภาคเอกชนที่ทำให้เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540
วันนี้ตัวเลขหนี้ครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น หากไม่รีบแก้ไขเสียก่อนจะเกิดปัญหาใหญ่ตามมา ดูอย่างศรีลังกาเป็นตัวอย่างชัดเจน
เมื่อสินค้าที่จำเป็นในการดำรงชีวิตมีราคาสูงขึ้น แต่ชาวบ้านไม่มีเงินซื้อเพราะราคาแพงจนเกิดเหตุวุ่นวาย
ลุกลามจนกลายเป็นปัญหาการเมือง
ไทยยังไม่ขนาดนั้น แต่อนาคตไม่แน่.
แหล่งข่าว หนี้ครัวเรือน, ไทยรัฐ, 20 เม.ย. 2565
COMMENTS