ความเคลื่อนไหว “ตลาดหุ้นไทย” วันนี้ (30 ธ.ค.64) ปิดตลาดดัชนี อยู่ที่ 1,657.62 เพิ่มขึ้น 14.36% หรือ 208.27 จุด จากปีก่อนปิดที่ 1449.35 จุด
ขณะที่ในวันนี้ ดัชนีเพิ่มขึ้น 4.29 จุด หรือเพิ่มขึ้น 0.26% ด้วยมีมูลค่าการซื้อขาย 74.535.61 ล้านบาท โดยระหว่างวันดัชนีปรับตัวขึ้นสูงสุด 1,660.85 จุด และดัชนีปรับตัวต่ำสุด1,652.37 จุด
นางสาวธีรดา ชาญยิ่งยงค์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป(ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยวันนี้แกว่งตัวในกรอบไม่ไปไกลและวอลุ่มเทรดบางก่อนเข้าวันหยุดยาว แต่ยังยืนในแดนบวกได้ ภาพรวมถือว่าดีกว่าตลาดต่างประเทศ โดยตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียเคลื่อนไหวทั้งแดนบวก-ลบ ส่วนตลาดยุโรปเทรดบ่ายนี้ส่วนใหญ่ติดลบ
ทั้งนี้ ตลาดบ้านเราได้รับแรงหนุนจากนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทยต่อเนื่องในช่วงท้ายปี ส่วนหนึ่งอาจเป็นการโยกเม็ดเงินลงทุนหลังจากฝั่งยุโรปและสหรัฐฯเผชิญกับการแพร่ระบาดไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอนที่มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ดี บ้านเราคงต้องประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 อีกครั้งช่วงหลังเทศกาลปีใหม่ที่มีวันหยุดยาว 4 วัน
แนวโน้มการลงทุนในสัปดาห์หน้าเข้าสู่ปี 2565 ตลาดฯน่าจะยืนบวกได้หากการแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศไม่รุนแรงมากขึ้น พร้อมแนะติดตามเงินเฟ้อทั่วโลก และวิกฤติการณ์ในยูเครนที่รัสเซียกำลังเตรียมการบุกโจมตี แต่ล่าสุดทางสหรัฐฯก็เข้าร่วมวงหารือด้วยพร้อมให้แนวรับ 1,630 จุด ส่วนแนวต้าน 1,660-1,670 จุด
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยปี 2565 คาดดัชนีอยู่ที่ 1,770 จุด และมองที่ระดับ 1,600 จุด บวกลบ หรือต่ำกว่าสำหรับกลยุทธ์การลงทุนระยะยาวถึงกลาง แนะนำทยอยสะสม 3 ระดับ เพื่อลดความเสี่ยงกรณีโอมิครอนระบาด และส่งผลกระทบ ได้แก่ 1,590-1,600 จุด รองลงมาคือ 1,550-1,570 จุด และกรณีล็อกดาวน์ที่ 1,500-1,520 จุด โดยธีมการลงทุนในปีหน้า กลุ่ม Domestic และกลุ่ม Value Play เป็นหลัก ตามเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นทั่วโลก
นอกจากนี้ ยังมีมุมมองเชิงบวกต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ที่เร่งตัวขึ้นในปีหน้า จากทุกๆ เครื่องยนต์ ทั้งการบริโภคและการลงทุนที่คาดเร่งตัวอย่างมีนัยยะ หลังผ่านการล็อกดาวน์ 2 ครั้งในช่วงปี 2564 โดยประเมินการเติบโตของ จีดีพี ในปีหน้าไว้ที่ 3.5-4.5%
ขณะที่ความเสี่ยงจากการระบาดโอมิครอน โดยเฉพาะในยุโรปที่เริ่มแพร่เป็นวงกว้าง แต่ข้อมูลในปัจจุบันคาดว่าความรุนแรงจากการระบาดไม่น่ากังวลเท่าที่ผ่านมา ทำให้มีมุมมองเชิงบวกต่อกลุ่มเดียว Domestic และ Reopenning Play เช่น กลุ่มค้าปลีกและร้านอาหาร เป็นต้น
ทางด้านสถานการณ์กระเแสเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ(ฟันด์โฟลว์) หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) เริ่มส่งสัญญาณถึงแผนปรับลด QE ก่อนเริ่มทยอยลดจริงในเดือน พ.ย. โดยรวมไม่ได้ส่งผลให้เงินไหลออกจากตลาดหุ้นไทย ซึ่งสอดคล้องกับที่ประเมินไว้ โดยให้น้ำหนักการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ที่หนุนเม็ดเงินไหลเข้ามากกว่า
COMMENTS