SEARCH

‘หุ้นไทย’ ร่วงนำกลุ่ม TIPs หวั่นสงครามดันราคาน้ำมันพุ่ง กระทบต้นทุนธุรกิจ

MINT ออกหุ้นกู้ 7 พันล้าน ขายรายย่อย – สถาบัน ดอกเบี้ย 3 – 3.6% ต่อปี
G20 เตรียมหารือนโยบายเกี่ยวกับสินทรัพย์คริปโต
น้ำมันหลุดแนวโน้มขาขึ้น

ความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยวานนี้ (7 มี.ค.2565) ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยระหว่างวันปรับตัวลงแรง 55.64 จุด ก่อนกลับมาปิดที่ 1,626.70 จุด ลดลง 45.02 จุด หรือ 2.69% มูลค่าการซื้อขาย 127,806.20 ล้านบาท โดยนักลงทุนทั่วไปในประเทศ ซื้อสุทธิ 11,758.30 ล้านบาท กองทุนในประเทศขายสุทธิ 6,583.65 ล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ขายสุทธิ 2,881.04 ล้านบาท และนักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 2,293.61 ล้านบาท

‘รัสเซีย-ยูเครน’ทำต้นทุนน้ำมันพุ่ง

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทรีนีตี้ จำกัด กล่าวว่า การปรับลงของตลาดหุ้นไทยวานนี้ โดยหลักมาจากกระแสข่าวสหรัฐและประเทศพันธมิตรเตรียมระงับการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย เพื่อคว่ำบาตรจากกรณีรัสเซียบุกโจมตียูเครน ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบโลกปรับขึ้นร้อนแรงแตะ 130 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และส่งผลต่อเนื่องถึงความกังวลเศรษฐกิจโลกถูกกระทบ ทั้งภาคการผลิตและภาคการบริโภค

แม้ว่าก่อนหน้านี้ ตลาดหุ้นไทยจะเป็นหลุมหลบภัย (Safe Haven) ของนักลงทุนต่างชาติ เพราะราคาน้ำมันดิบที่ปรับขึ้นแตะระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เป็นบวกต่อกลุ่มพลังงาน ซึ่งเป็นกลุ่มหุ้นที่ครองสัดส่วนสูงสุดในตลาดหุ้นไทย อย่างไรก็ดี เมื่อราคาพลังงานปรับขึ้นร้อนแรงมากจนเกินไป ส่งผลให้ปัจจัยบวกดังกล่าวไม่สามารถหักกลบกับปัจจัยลบที่ราคาน้ำมันดิบส่งผลให้ต้นทุนการดำเนินธุรกิจของหุ้นกลุ่มอื่นๆ ปรับตัวขึ้นสูงได้

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยืดเยื้อและรุนแรง ส่งผลกระทบให้กระแสเงินลงทุน (ฟันด์โฟลว์) ไหลออกจากสินทรัพย์เสี่ยงไปยังสินทรัพย์ปลอดภัย สะท้อนจากตลาดหุ้นทั่วโลกที่ปรับลงแรง สวนทางกับราคาทองคำที่ปรับขึ้นร้องแรงเฉียด 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับตลาดหุ้นไทย แม้มีสัดส่วนการนำเข้าและส่งออกกับรัสเซียในระดับที่ต่ำมาก กล่าวคือ น้อยกว่า 1% แต่ด้วยราคาน้ำมันดิบที่ปรับขึ้นร้อนแรงระดับ 120-130 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จึงส่งผลลบต่อประเทศไทย เพราะเป็นประเทศที่บริโภคน้ำมันเป็นหลัก รวมถึงส่งผลลบต่อภาคการผลิต เพราะมีต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่สูงขึ้น

สำหรับการลงทุน แนะนำรอปัจจัยแวดล้อมสงบลงก่อนเข้าลงทุน โดยเลือกหุ้นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจในประเทศ ได้แก่ กลุ่มค้าปลีก กลุ่มบริหารหนี้ และกลุ่มท่องเที่ยว ขณะที่สินทรัพย์ทางเลือก ได้แก่ ทองคำ และน้ำมัน ไม่แนะนำเข้าซื้อลงทุนเพิ่ม จากที่ราคาปรับขึ้นร้อนแรงมากจนเกินไป มีความเสี่ยงถูกเทขายหากความตึงเครียดรัสเซียกับยูเครนคลี่คลาย

นายสรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครนเริ่มมีความเสี่ยงลากยาวสูงขึ้น ซึ่งจะกดดันให้ตลาดหุ้นโลกปรับตัวลง รวมถึงส่งผลกระทบเชิงลบให้เกิดภาวะ Stagflation ล่าสุด สหรัฐรายงานเงินเฟ้อที่ระดับ 8% ขณะที่ประเทศไทยเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้นเช่นกันที่ระดับ 5% หากราคาน้ำมันดิบยังพุ่งสูง จะเป็นความเสี่ยงให้เงินเฟ้อสูงขึ้น และเป็นความเสี่ยงให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ไม่โดดเด่น (Underperform)

สำหรับการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย หากสถานการณ์ระหว่างรัสเซียกับยูเครนลากยาว คาดว่า SET Index จะซึมต่อเนื่อง แต่หากสถานการณ์ผ่อนคลายลงคาดว่าดัชนีมีโอกาสเด้งตัว (รีบาวด์) เบื้องต้นประเมินแนวรับที่ 1,610 จุด ในกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ผ่อนคลายนโยบายการเงินในการประชุมเดือน มี.ค. คาดว่าดัชนีมีโอกาสปรับขึ้นเหนือแนวรับที่ประเมินไว้สูง ในทางกลับกัน หากเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยซ้ำเติมปัจจัยลบ คาดว่าดัชนีจะเคลื่อนไหวหลุดแนวรับ 1,610 จุดลงไป

นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสิน กล่าวว่า การปรับลงของตลาดหุ้นไทยวานนี้สอดคล้องกับทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศที่ปรับลงแรง โดยตลาดหุ้นเอเชียเหนือปรับลงราว 3% อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นที่มีความคล้ายคลึงกัน หรือตลาดหุ้นในกลุ่ม TIPs (ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์) พบว่า SET Index ปรับตัวลงแรงที่สุด

ทั้งนี้ การปรับลงของตลาดหุ้นไทยมาจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่กดดันตลาดสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก รวมถึงราคาน้ำมันดิบที่พุ่งสูงเกินไป ส่งผลให้เกิดความกังวลภาวะเงินเฟ้อ โดยคาดว่าดัชนีจะทยอยตอบรับปัจจัยลบดังกล่าวตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นรายวัน ประเมินแนวรับแรกที่ 1,600-1,620 จุด และแนวรับถัดไปที่ 1,570-1,585 จุด

แหล่งข่าว ‘หุ้นไทย’ ร่วงนำกลุ่ม TIPs หวั่นสงครามดันราคาน้ำมันพุ่ง กระทบต้นทุนธุรกิจ, bangkokbiznews, 08 มี.ค. 2565

COMMENTS

WORDPRESS: 0
DISQUS: 0