SEARCH

“เศรษฐกิจถดถอย” ดูที่ตรงไหน วัดจากอะไร?

Bitcoin ก้าวข้ามความตึงเครียดภาคธนาคาร
ย้อนรอย ‘หุ้น IPO’ ช่วง 3 ปี พบ 16 หุ้นดังสุดแป้ก ราคาร่วงต่ำกว่าจอง
ธนาคารโลกอนุมัติเงินกู้ 723 ล้านดอลลาร์ให้แก่ยูเครน

จากสถานการณ์เงินเฟ้อของสหรัฐที่ทำสถิติสูงสุดในรอบ 40 ปี จนธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.75% ในเดือนมิ.ย. ซึ่งนับเป็นตัวเลขสูงสุดในรอบ 28 ปี ขณะเดียวกัน ตัวเลขจีดีพีรายไตรมาส 2/65 หดต่อลง 2.1% ซึ่งเป็นการหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 1/65 นำมาสู่การถกเถียงกันในแวดวงนักเศรษฐศาสตร์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ “ภาวะการถดถอย” (Economic Recession) แล้วใช่หรือไม่

ทั้งนี้คำว่า “เศรษฐกิจถดถอย” หมายถึง ภาวะที่มีการหดตัวลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อาทิ การบริโภค การผลิต หรือการลงทุน เป็นต้น เมื่อเจอภาวะนี้ จะทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจในภาพรวมหดตัวลงไปด้วย

ถึงกระนั้น ก็ยังมีการถกเถียงกันอยู่เป็นวงกว้าง จากความเห็นที่แตกต่างในการจะบอกว่า กิจกรรมเศรษฐกิจต้องหดตัวลงขนาดไหน ถึงจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทำให้มีการใช้ตัวชี้วัดหลายแบบในการบอกถึงภาวะดังกล่าว ดังที่จะอธิบายดังต่อไปนี้

“ตัวชี้วัด” ลักษณะเศรษฐกิจถดถอย

“ตัวชี้วัด” (Indicator) คือ เครื่องมือที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการบอกว่าสภาพเศรษฐกิจแบบใดที่เข้าสู่ภาวะถดถอย ทั้งนี้ตัวชี้วัดบางชนิดอาจทำหน้าที่เป็นสัญญาณบอกถึงความกังวลของคนในสังคมเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่อาจจะเกิดขึ้น โดยอาจตามมาด้วยเศรษฐกิจถดถอยจริงๆ หรือไม่ก็ได้

เราสามารถแบ่งตัวชี้วัดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจออกมาได้ 2 ประเภท คือ ตัวชี้วัดจากผลที่เกิดขึ้น (Ex-post indicators) และตัวชี้วัดจากความคาดการณ์ (Ex-ante indicators)

ตัวชี้วัดจากผลที่เกิดขึ้น (Ex-post indicators)
ตัวชี้วัดประเภทนี้จะใช้ข้อมูล อาทิ จีดีพี การผลิต การบริโภค เป็นต้น โดยข้อมูลเหล่านี้จะสะท้อนจากสิ่งที่เกิดขึ้นไปก่อนหน้าแล้ว สามารถใช้บอกถึงสถานะปัจจุบันของสภาวะทางเศรษฐกิจได้

อย่างไรก็ตาม การใช้ตัวชี้วัดที่นำมาใช้ มักเกิดขึ้นจากแนวคิดเกี่ยวกับลักษณะของเศรษฐกิจถดถอย อาทิ แนวคิดที่ถูกให้การยอมรับกันแพร่หลายอย่าง ขนาดเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา (Quarter on Quarter : QoQ) หดตัวต่อเนื่องอย่างน้อย 2 ไตรมาส ซึ่งถูกคิดค้นโดย Julius Shiskin นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ในปี 2517 โดยการถดถอยในลักษณะนี้มักถูกเรียกว่าเป็น การถดถอยเชิงเทคนิค (Technical Recession)

จากแนวคิดดังกล่าว ทำให้ “ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ” (Gross Domestic Product) หรือ จีดีพี ถูกใช้เป็นตัวชี้วัดในบอกถึงภาวะถดถอยของเศรษฐกิจ ในทีนี้คือ “จีดีพีรายไตรมาส” หรือ จีดีพีรายไตรมาสที่ปรับผลของฤดูกาลออกไป (Quarter on Quarter of Seasonal Adjusted Series : QoQ SA) เพื่อให้ได้ความละเอียดและแม่นยำมากขึ้น

นอกจากนี้ “จีดีพีรายปี” ก็สามารถใช้บอกภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจได้ เพราะหากปีใดที่ขนาดเศรษฐกิจหดตัวลงจากปีที่ผ่านมา ผลก็จะสะท้อนออกมาตัวเลขจีดีพีรายปีที่ติดลบ ยกตัวอย่างเช่น ช่วงปี 2563 ที่ประเทศไทยมีตัวเลขจีดีพี -6.2% บ่งบอกว่า เศรษฐกิจไทยประสบกับภาวะถดถอย จากการหดตัวลงเมื่อเทียบกับปี 2562

แนวคิดต่อมาที่ได้รับความนิยมเช่นกัน คือ ดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจสำคัญในมิติต่างๆ หดตัวต่อเนื่องพร้อมกัน ซึ่งถูกคิดขึ้นโดย National Bureau of Economic Research ของสหรัฐฯ ด้วยแนวคิดนี้ ทำให้มีการใช้ตัวชี้วัดหลายอย่างเข้ามาพิจารณาร่วมด้วย อาทิ อัตราการจ้างงาน (Employment rate) , ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Output Index) , ยอดค้าปลีก และการบริโภค เป็นต้น โดยหากดัชนีชี้วัดต่างๆ ดังกล่าวหดตัวพร้อมกันต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 2-3 เดือน จะถือว่าเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ตัวชี้วัดจากความคาดการณ์ (Ex-ante indicators)
อย่างไรก็ตาม ก่อนข้อมูลดังกล่าวจะถูกประกาศออกมา ก็มักจะมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐศาสตร์และการเงิน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ได้ทำการวิเคราะห์แล้วออกผลคาดการณ์มาไว้ล่วงหน้า ซึ่งผลคาดการณ์มักนำไปสู่การตัดสินใจของผู้คนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนหรือประชาชนทั่วไป และการตัดสินใจตรงนี้นี่เองที่จะกลายเป็นสัญญาณหนึ่งสำหรับภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่อาจจะเกิดขึ้น

ในความจริงแล้ว ตามแนวคิดการใช้ดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจสำคัญในมิติต่างๆ หดตัวต่อเนื่องพร้อมกัน มีการใช้ตัวชี้วัดจากความคาดการณ์ที่สำคัญอย่าง ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (Consumer Sentiment Index) หรือความเชื่อมั่นของสาธารณะชน ซึ่งเป็นดัชนีพยากรณ์ที่ค่อนข้างแม่นยำมาก เพราะเมื่อครัวเรือนคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะเข้าสู่สภาวะถดถอย ส่งผลให้เกิดการลดค่าใช้จ่ายหรือมีความระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยมากยิ่งขึ้น ซึ่งตรงนี้จะมีผลให้ตัวชี้วัด อาทิ ยอดค้าปลีก หรือการบริโภคภาคเอกชน นั้นหดตัวลงตามไปในที่สุด จึงเป็นที่มาว่า หากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคหดตัวลง 2-3 เดือนติดต่อกัน พร้อมกับการหดตัวลงของตัวชี้วัดอื่นๆ ก็คาดว่าจะมีผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้

แหล่งข่าว “เศรษฐกิจถดถอย” ดูที่ตรงไหน วัดจากอะไร?, bangkokbiznews, 13 ก.ค. 2565

COMMENTS

WORDPRESS: 0
DISQUS: 0