SEARCH

‘ภาคธุรกิจ’หนุน‘สินทรัพย์ดิจิทัล’ ‘ตัวพลิกเกม’สร้างโอกาสใหม่

ตลาดเดิมพันการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 75bps ในวันพุธ
“3รายใหญ่” มองคริปโทฯ เสี่ยงสูง-ราคาผันผวนแรง !
Bitcoin ปิดบวก 10% ในสัปดาห์นี้ ทำผลงานโดดเด่นกว่าหุ้น

“จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา” ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด บอกว่า ยุคเว็บ 3.0 มีเทคโลยีใหม่เกิดขึ้นมากมาย และสินทรัพย์ดิจิทัลทำให้เกิดโมเดลการทำธุรกิจใหม่ที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง อย่างเล่นเกม ออกกำลังกาย ฟังเพลง เรียนรู้แล้วได้เงิน

ขณะที่พัฒนาการของสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยช่วง 8 ปีที่ผ่านมานี้ พบว่า ช่วง 4 ปีหลังมีพัฒนาสอดคล้องกับการเปลี่ยนไปสู่ยุคเว็บ 3.0 มากขึ้นทั้งการออกกฎหมายรองรับสินทรัพย์ดิจิทัล และสถาบันต่างๆ เข้ามาเชื่อมต่อในวงการสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้นเพราะต้องการทรานส์ฟอร์มธุรกิจด้วยบิซิเนสโมเดลใหม่

บิทคับ พบว่า ตั้งแต่ปลายปี 2564 จนถึงตอนนี้เกิดขึ้นแล้วกว่า 100 โปรเจ็ค เริ่มจากวงการนางงาม ฟุตบอล และอีสปอร์ต

จะเห็นว่า มีหลากหลายวงการธุรกิจของไทยเข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์กับบิทคับ เพื่อนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาช่วยดึงศักยภาพทางธุรกิจ ปลดล็อกในสิ่งที่อาจเคยคิดว่า “เป็นไปไม่ได้ ให้เป็นไปได้” และเชื่อมต่อสู่โลกสินทรัพย์ดิจิทัลบน “ดิจิทัลอินฟราสตักเจอร์” ที่บิทคับเป็นผู้สร้าง

มอง NFT ปลดล็อกโมเดลธุรกิจเดิม

“ตอนนี้เราเหมือนเป็น คนขัดเพชร ที่ภาคธุรกิจเอาเพชรที่มีอยู่มาให้เราขัด ช่วยให้เพชรส่องประกาย สร้างโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น พบว่า ปีนี้ Non-Fungible Token หรือ NFT เป็นอีกหนึ่งโครงสร้างพื้นฐานสินทรัพย์ดิจิทัล สำหรับธุรกิจที่ชื่นชอบเทคโนโลยีบล็อกเชนมาช่วยทรานส์ฟอร์มธุรกิจด้วยโมเดลใหม่ได้ ปลดล็อกโมเดลธุรกิจเดิมๆ ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มยอดขายได้”

“จิรายุส” บอกว่า บิทคับ เป็นธุรกิจในยุคเว็บ 3.0 ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มต้น และวางเป้าหมายชัดเจน คือ เป็นผู้สร้าง “ดิจิทัลอินฟราสตักเจอร์ของเว็บ 3.0” ที่แข็งแรงให้กับประเทศไทย เพื่อให้เศรษฐกิจดิจิทัลไทยเกิดขึ้นและเป็นจริงได้ในอนาคต

‘ก.ม.’ต้องทันต่อ‘พัฒนาของโลก’

ขณะที่ กฎเกณฑ์การกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลในไทย คงต้องหาตรงกลางให้ได้ระหว่างจะ “คอนเซอร์เวทีฟ” หรือ “ขับเคลื่อนไปข้างหน้า” กฏเกณฑ์การกำกับดูแล ต้องมีการศึกษาและมีไดนามิก คือ เปลี่ยนแปลงได้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงนวัตกรรมที่เข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงของโลกนี้อย่างรวดเร็ว และไม่เหมือนในอดีต เพราะอีก 5 ปีข้างหน้าจะเร็วกว่า 50 ปีที่ผ่านมา เมื่อไดเร็คชั่นในโลกชัดเจนขึ้น การกำกับดูแลต้องมีพัฒนาการให้ทันต่อโลก ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่เช่นนั้นประเทศไทยจะเสียโอกาสอีกเหมือนในยุคเว็บ 2.0

สยามพิวรรธน์ เล็งออก‘โทเคน-คอยน์’

“อริยะ พนมยงค์” ประธานบริหารสายงานนวัตกรรม บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ผู้ก่อตั้งบริษัท Transformational บอกว่า การเกิดขึ้นของสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นโอกาสทางธุรกิจค่อนข้างมาก สยามพิวรรธน์หนึ่งในผู้นำธุรกิจค้าปลีก อยู่ระหว่างเตรียมออกเหรียญโทเคนดิจิทัล เอ็นเอฟที (NFT) เดือน มี.ค.นี้ ซึ่งมีศิลปินต่างๆ ให้ความสนใจการเคลื่อนเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอย่างมาก ทั้งนี้ การก้าวเข้าสู่เอ็นเอฟทีของสยามพิวรรธน์ เป็นการขยับสู่โลกอินเทอร์เน็ตยุคใหม่หรือ web 3.0 ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจของบริษัท คู่ค้า พันธมิตร และลูกค้าให้ดีขึ้น

ก่อนหน้านี้ช่วงเผชิญวิกฤติโควิด-19 สยามพิวรรธน์ใช้เวลา 13 เดือน ทรานส์ฟอร์มธุรกิจค้าปลีกจากยุค 1.0 ไปสู่ 2.0 คือ พัฒนา “วันสยาม ซูเปอร์แอพ” เชื่อมต่อธุรกิจของบริษัท ธุรกิจของผู้เช่าพื้นที่ พันธมิตรต่างๆ รวมถึงฝั่งลูกค้าให้มาอยู่บนแพลตฟอร์มเดียวกัน พลิกโลกค้าปลีก จากการชอปปิงผ่านร้านกายภาพแบบเดิมไปสู่อีคอมเมิร์ซที่แตกต่างออกไป

หลังเปิดตัววันสยาม ซูเปอร์แอพ คู่ค้า พันธมิตร รวมถึงลูกค้าให้การตอบรับอย่างดี เพราะแบรนด์สินค้าและบริการสามารถเชื่อมต่อถึงลูกค้าปลายทางได้สะดวกขึ้น ส่วนลูกค้าได้สัมผัสประสบการณ์ที่แตกต่างจากสิ่งที่มีในตลาด ด้านบริษัทได้เห็นพฤติกรรมการชอปปิงของลูกค้า เพื่อสร้างโอกาสแตกไลน์สู่ธุรกิจใหม่ได้

“ปลายปีที่ผ่านมาเราเปิดตัววันสยาม ซูเปอร์แอพ เชื่อมต่อธุรกิจค้าปลีกของสยามพิวรรธน์กับพันธมิตรคู่ค้าและลูกค้า ซึ่งเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัล ตอนนี้เรากำลังจะเข้าสู่โลกเว็บ 3.0 ออกสินทรัพย์ดิจิทัล ที่จะขยายทำอะไรได้อีกมาก เช่น ออกโทเคน หรือคอยน์ เพื่อต่อยอดการทำกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าหรือลอยัลตี โปรแกรมต่างๆ ซึ่งจะทำให้ธุรกิจลื่นไหล เห็นกลไกที่นำไปต่อยอดสร้างธุรกิจรูปแบบใหม่ได้มีประสิทธิภาพกว่าเดิม”

ย้ำทรานส์ฟอร์ม อย่าตกขบวนยุค 3.0

สำหรับการทรานส์ฟอร์มธุรกิจอย่างรวดเร็วเพื่อรับโลกอนาคตเป็นสิ่งที่ธุรกิจต้องตระหนักมากขึ้น และไม่ควรกังวลกับสปีดหรือความเร็ว แต่ควรกลัวการขับเคลื่อนที่ช้าเกินไป เนื่องจากบทเรียนธุรกิจในอดีตที่ธุรกิจเคลื่อนจากโลกอินเทอร์เน็ต 1.0 ไปสู่ 2.0 หลายองค์กรตกขบวนรถไฟ เพราะไม่ยอมกระดิกหรือปรับตัวรับเทรนด์การตลาดดิจิทัล ออนไลน์ที่เกิดขึ้นในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม การก้าวเข้าสู่โลกสินทรัพย์ดิจิทัล ยังมีกฏเกณฑ์ภาครัฐที่อาจเป็นอุปสรรคต่อภาคธุรกิจ มองว่าเป็นเรื่องปกติที่หน่วยงานกำกับดูแลมีหน้าที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะผู้ที่อยู่ในวงการสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความรู้ระดับหนึ่ง เมื่อเข้าไปลงทุนเองยังเจ็บตัว หากเป็นประชาชนทั่วไปอาจไม่รอดผลกระทบ เพราะการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลราคาปรับขึ้นแรงอาจติดดอยและพาตกเหวได้ จึงต้องมีหน่วยงานคอยปกป้องผู้ที่ยังไม่เข้าใจ ทั้งนี้ เพื่อขจัดอุปสรรคและทุกอย่างเดินได้ควรเปิดเวทีให้ทุกฝ่ายได้หารือกันเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลก่อนออกกฏ กติกาเป็นสิ่งที่ดีสุด

เจมาร์ทปักธง‘คอมเมิร์ซ-ฟินเทค’

“อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) เล่าว่า จากจุดเริ่มต้นเมื่อ 4 ปีที่แล้วของการเปิดตัว “เจฟินคอยน์” ซึ่งเป็นรายแรกที่เข้ามาบุกเบิกตลาดดิจิทัลโทเคนในประเทศไทย ไม่เคยคาดคิดว่า จะเกิดภาพเช่นวันนี้ แต่ส่วนตัวชอบด้านเทคโนโลยี เชื่อในบล็อกเชน เชื่อว่า ต่อไปจะไม่มีตัวกลาง พื้นฐานของต้นทุนที่ต่ำ มีความรวดเร็วและเชื่อถือได้ จึงตัดสินใจที่จะทำ ซึ่งมาถึงวันนี้นับว่าเกินความคาดหมายและได้เห็นว่าทุกคนอยากที่จะออกคอยน์ในลักษณะต่างๆ

สำหรับปัจจัยที่ทำให้เกิดความสำเร็จ มาจากการวางเป้าหมายที่ชัดเจนในการทรานส์ฟอร์มบริษัทในเครือ บวกกับสามารถนำสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์กับกิจกรรมภายในและที่ทำกับคู่ค้า ปูทางสร้างการเติบโตด้วยฐานลูกค้าที่มี ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ผลักดันให้สามารถกำไรได้สูงสุดต่อเนื่องแม้ช่วงวิกฤติโควิด

แหล่งข่าว ‘ภาคธุรกิจ’หนุน‘สินทรัพย์ดิจิทัล’ ‘ตัวพลิกเกม’สร้างโอกาสใหม่, bangkokbiznews, 02 มี.ค. 2565

COMMENTS

WORDPRESS: 0
DISQUS: 0