ค่าเงิน “ดอลลาร์” วันนี้ ต้องบอกเลยว่า “แข็งค่า” มาก ทำให้สกุลเงินหลักๆ อื่นอ่อนค่าลง รวมถึงเงินบาทของไทย โดยการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อวันจันทร์ที่ 11 ก.ค. 2565 ดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน พุ่งขึ้น 0.95% แตะที่ระดับ 108.0220 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 20 ปี
“ยูโร” อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ที่ระดับ 1.0065 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0178 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.1896 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2024 ดอลลาร์
ส่วน “ดอลลาร์ออสเตรเลีย” อ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.6745 ดอลลาร์ จากระดับ 0.6851 ดอลลาร์ ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 137.28 เยน จากระดับ 136.18 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9799 ฟรังก์ จากระดับ 0.9773 ฟรังก์
นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2986 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2957 ดอลลาร์แคนาดา เหตุผลสำคัญคือตื่นตระหนก ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในยูโรโซน ทำให้นักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์ เพราะมองว่าฐานะสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางความกังวล
นอกจากนั้น ตลาดยังคาดการณ์กันว่าธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด มีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75-1.00% ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินใน วันที่ 26-27 ก.ค.นี้ และยิ่งเห็นว่า ตัวเลขจ้างงานที่แข็งแกร่ง และอัตราเงินเฟ้อ จะพุ่งขึ้นเหนือระดับ 8.6% ของเดือน พ.ค. 2565
ขณะที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ เห็นว่า หากดูสถานการณ์เงินบาทในเร็วๆ นี้ เงินบาทอ่อนค่าที่สุดในรอบ 7 ปี หลักๆ มาจากปัจจัยภายนอก คือ ค่าเงินดอลลาร์แข็งเป็นหลัก และหากดูภาพรวม การอ่อนค่าของเงินบาท ถือว่ายังอยู่ระดับกลาง หรือค่อนไปทางสูง หากเทียบกับค่าเงินในภูมิภาค
ทั้งนี้ ระดับค่าเงินบาทไทย มาอยู่ระดับอ่อนค่าเกิน 36 บาท ธปท. ยังมองว่าไม่อ่อนค่ามากนัก เมื่อเทียบกับดอลลาร์ที่แข็งค่าที่ 11-12% แต่เงินบาทอ่อนค่าเพียง 7% เพราะหากเทียบภูมิภาค ค่าเงินเยน, วอน, เปโซ เหล่านี้ถือว่าอ่อนกว่าเงินบาทไทย
แหล่งข่าว ป้องกันความเสี่ยง รับค่า “เงินบาทอ่อน”, bangkokbiznews, 13 ก.ค. 2565
COMMENTS