นางสาวภาณี กิตติภัทรกุล ผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวถึงภาพรวมนโยบายการเงินของประเทศต่างๆ ทั่วโลกในไตรมาส 4 ว่า ยังคงเป็นธีมเดิมคือ การปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อของธนาคารกลางต่างๆ ยกเว้น จีน กับ ญี่ปุ่น โดยในสัปดาห์หน้า จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของประเทศขนาดใหญ่ เช่น ECB และ ญี่ปุ่น
โดย ECB นั้น นักวิเคราะห์มีการพูดถึงจะปรับขึ้นถึง 0.75% จากนั้น ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ก็จะมีการประชุมในต้นเดือนพ.ย. โดยปัจจัยที่สนับสนุนคือ เงินเฟ้อของสหรัฐที่ชะลอตัวลงมา 3 เดือน ล่าสุดอยู่ที่ 8.2%ในเดือนก.ย.ถือเป็นข่าวดี แต่ชะลอน้อยกว่าที่คาด ประกอบกับเงินเฟ้อพื้นฐานของสหรัฐเองเร่งขึ้นใน 2 เดือนที่ผ่านมา ล่าสุดในเดือนก.ย.เงินเฟ้อพื้นฐานทำระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี
ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 2 ปี พบว่า พุ่งขึ้นแตะ 4.5% กว่า จาก 4.27% แสดงว่า เฟดน่าจะเร่งขึ้นดอกเบี้ย เพราะตลาดแรงงานสหรัฐเองที่ผ่านมา ยังออกมาดีกว่าคาด การจ้างงานนอกภาคเกษตรดีกว่าคาดทุกเดือน ประกอบกับ การว่างงานปรับลดลงในเดือนล่าสุด ฉะนั้น ทำให้ตลาดคาด 100% ว่า ในต้นเดือนพ.ย.นี้ เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยถึง 0.75% อย่างแน่นอน ที่สำคัญ คาดการณ์ไปยังเดือนธ.ค.ด้วยว่า น่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อที่ 0.75% ถ้าเงินเฟ้อยังค้างในระดับสูง
เธอกล่าวว่า ที่น่ากังวลคือ ยิ่งเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยเท่าไร โอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างเป็นทางการยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อย โดยครั้งก่อนคาดการณ์ไว้ที่ 50% รอบนี้ เพิ่มมาอีก 10%
นอกจากนี้ สิ่งที่ทำให้ตลาดผันผวนมากคือ กรณีของอังกฤษ โดยในเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลประกาศนโยบายหั่นภาษีมโหฬาร ทำให้นักลงทุนเกิดความไม่มั่นใจ เนื่องจาก ไม่มีนโยบายที่จะหารายได้อย่างไร ฉะนั้น นักลงทุนจึงเทขายพันธบัตรอังกฤษจำนวนมาก ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ธนาคารกลางอังกฤษเข้ามาช่วยซื้อพันธบัตรระยะยาวของอังกฤษ เพื่อให้อัตราผลตอบแทนลดลง แต่ก็ยังคงมีความผันผวน ทำให้ทั่วโลกผันผวนตามไปด้วย
ส่วนของไทยนั้น เงินเฟ้อของไทยชะลอลงมากกว่าที่ตลาดคาด เป็นข่าวดีลงมาเหลือ 6.4% จาก 7.9% สอดคล้องกับนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อน่าจะสูงสุดที่ 7.9% แล้ว และหลังจากนี้จะเริ่มชะลอลง แต่ยังสูงกว่า 1-3%ตามกรอบเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย ฉะนั้น ธปท.ยังถูกกดดันให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอยู่ เพราะเงินเฟ้อยังสูงอยู่
อย่างไรก็ตาม ธปท.เองก็พูดเสมอว่า ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงไม่ได้ เพราะหนี้ครัวเรือน และหนี้สาธารณะสูงมากในช่วงที่ผ่านมา และค้างอยู่ระดับบน ฉะนั้น ธปท.ก็กังวล และเป็นจุดเปราะบางของเศรษฐกิจเรา ฉะนั้น เราก็คาดว่า ธปท.จะขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.25% เท่านั้น ฉะนั้น ความกว้างระหว่างดอกเบี้ยสหรัฐกับดอกเบี้ยไทยจะยิ่งกว้างมากขึ้น ตราบใดที่เฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่ไทยปรับขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจปีหน้า นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า จะทยอยปรับลดลง จากปัจจัยสงครามรัสเซีย-ยูเครน วิกฤติพลังงานยุโรป การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่มากขึ้น และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ขัดแย้งกันมากขึ้น ทำให้ปีหน้า เศรษฐกิจจะชะลอกว่าปีนี้ และชะลอกว่าที่คาดการณ์ ฉะนั้น ปีหน้าเศรษฐกิจโลกไม่สดใส
ด้าน นางสาวกฤติกา บุญสร้าง ผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจ และตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทว่า ผันผวนมาก ทำให้เรามีการปรับคาดการณ์ใหม่ โดยล่าสุด ณ 30 ก.ย.เรามองที่ 35 ดอลลาร์สหรัฐ ตอนนี้ แต่ขณะนี้ เราปรับมาอยู่ที่ 37.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปีนี้
ปัจจัยหลักคือ ปัจจัยในประเทศยังสนับสนุนเศรษฐกิจไทย และค่าเงินบาท โดยเฉพาะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งปัจจุบัน เราทราบว่า มีนักท่องเที่ยวเข้ามามาก โดยตัวเลขนักท่องเที่ยว ไทยเองมีสัดส่วนนักท่องเที่ยวสูง ก่อนโควิด 40 ล้านคน ล่าสุด 6.5 ล้านคน ฉะนั้น เรามีรูมโตได้อีก
ส่วนการเคลื่อนย้ายเงินทุนนั้น ในช่วงที่ผ่านมา ไทยมีเงินทุนไหลเข้าตลาดทุน และพันธบัตร ทำให้อัตราการถือครองหุ้นไทยของต่างชาติเพิ่มขึ้นประมาณ 29.4% จากที่ไม่เคยเพิ่มมาก่อนใน 5 ปีที่ผ่านมา หมายความว่า นักลงทุนยังมองตลาดไทยน่าลงทุน และมีโอกาสเติบโตได้ โดยนักลงทุนยังได้ผลกำไรจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงด้วย
แหล่งข่าว กสิกรไทยชี้เงินเฟ้อทรงตัวสูงกดดัน ธปท.ปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25%, bangkokbiznews, 21 ต.ค. 2565
COMMENTS