เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เผยแพร่ประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีหน้าที่ร้อยละ 2.7 ต่อปี ลดลงจากประมาณการการขยายตัวในปีนี้ที่ร้อยละ 3.2 ต่อปี
ในรายงานฉบับเดียวกัน ไอเอ็มเอฟให้ความน่าจะเป็นที่เศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 2 ต่อปี ไว้ที่ร้อยละ 25 หรือโอกาส 1 ใน 4 และโอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะหดตัวไว้ที่ร้อยละ 10 หรือ 1 ใน 10 ซึ่งหมายความว่า ไอเอ็มเอฟประเมินความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะถดถอยรุนแรงไว้สูงพอสมควร
ตามประมาณการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปีหน้าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ21 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากประมาณการทั้งปีนี้ที่ 9.5 ล้านคน
อย่างไรก็ดี ผมคิดว่าเราไม่ควรจะชะล่าใจ โดยผมคิดว่ามี 3 ฉากทัศน์ทางเศรษฐศาสตร์ (Economic scenario) ที่จะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยสะดุดลงได้
ฉากทัศน์แรก เงินบาทกลับมาแข็งค่าอย่างมีนัยพร้อมกับการหดตัวของการส่งออกสินค้าในปีหน้า ในสามฉากทัศน์ ผมให้ความน่าจะเป็นของฉากทัศน์นี้สูงที่สุด
แล้วเมื่อไรที่ดอลลาร์สหรัฐจะอ่อนค่า คำตอบคือ เมื่อตลาดคิดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะหยุดขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแล้ว ซึ่งล่าสุดคาดกันว่าจะเป็นไตรมาสแรกของปีหน้า
จริงๆ แล้ว ไม่ว่าบาทจะอ่อนหรือจะแข็ง ถ้าเป็นการเกาะกลุ่มไปกับภูมิภาค ไม่ได้มีผลต่อการส่งออกสินค้ามากนัก ประเด็นคือในปีหน้า เราน่าจะเห็นการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างเป็นเนื้อเป็นหนัง ซึ่งจะกดดันให้บาทแข็งค่ากว่าค่าเงินในภูมิภาค ประกอบกับเศรษฐกิจในหลายประเทศจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้า
สองปัจจัยรวมกันอาจทำให้การส่งออกสินค้าของไทยหดตัวได้ และเนื่องจากการส่งออกสินค้ามีขนาดใหญ่กว่าการท่องเที่ยวหลายเท่าตัว ผลต่อเศรษฐกิจจากการหดตัวของการส่งออกสินค้าอาจจะมากกว่าผลของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ภายใต้ฉากทัศน์นี้ เศรษฐกิจไทยไม่น่าจะถึงขั้นถดถอยเหมือนกับหลายประเทศ ตราบใดที่นักท่องเที่ยวต่างชาติยังมาได้ตามคาด
ฉากทัศน์ที่สอง ซึ่งผมคิดว่ามีโอกาสเกิดขึ้นน้อยกว่าฉากทัศน์แรก แต่ไม่ได้น้อยกว่ามาก และเป็นฉากทัศน์ที่ผมกังวลมากที่สุด คือ เฟดขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องทั้งปี ไม่ได้หยุดแค่ที่ไตรมาสแรกของปีหน้า
เนื่องจากเงินเฟ้อสหรัฐไม่ลงมามากเท่าที่เฟดอยากเห็น ซึ่งหมายความว่า เราอาจจะเห็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐที่สูงกว่าคาดการณ์ของเฟดที่ร้อยละ 4.8 ต่อปี อีกพอสมควร โดย Ray Dalio และ Mark Mobius สองนักลงทุนชื่อดังที่คนไทยรู้จักกันดี มองอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐไปสูงสุดที่ร้อยละ 6 ต่อปี และร้อยละ 9 ต่อปี ตามลำดับ
ภายใต้ฉากทัศน์นี้ ซึ่งตรงกับกรณีเลวร้ายของไอเอ็มเอฟ เราน่าจะเห็นเศรษฐกิจโลกถดถอยรุนแรง การส่งออกสินค้าน่าจะหดตัวแน่ๆ แต่ที่ต่างจากฉากทัศน์แรกคงเป็นค่าเงินบาทที่น่าจะอ่อนเกิน 40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
จากแนวโน้มเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่า ขณะที่ ธปท. เอง คงจะต้องขึ้นดอกเบี้ยแรงกว่าที่ตลาดคาดมาก แม้ปัจจุบัน ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทย-สหรัฐ จะไม่ได้มีผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายมากนัก
แต่ถ้าปีหน้าเฟดขึ้นดอกเบี้ยไปร้อยละ 5-6 (ยังไม่ต้องพูดถึงร้อยละ 9) ธปท. ไม่น่าจะสามารถหยุดการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2 ต่อปี ผมคิดว่ามีความเป็นไปได้สูงที่เศรษฐกิจไทยจะกลับเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้ง
ฉากทัศน์ที่สาม คือ เงินเฟ้อในประเทศ “จุดติด” จากเงินเฟ้อคาดการณ์ และไม่ยอมลงมาในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในระยะปานกลางที่ร้อยละ 1-3 ต่อปี ของ ธปท. ในกรณีนี้ ธปท. คงต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปจนกว่าจะสามารถคุมเงินเฟ้อคาดการณ์ได้ แม้จะต้องแลกกับการชะลอตัวลงแรงหรือการถดถอยของเศรษฐกิจก็ตาม
หลายคนพูดถึงฉากทัศน์การกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 ที่จะทำให้การท่องเที่ยวระหว่างประเทศกลับมาเป็นง่อยอีกครั้ง ซึ่งสำหรับเศรษฐกิจไทยจะมีผลลบยิ่งกว่าทั้งสามฉากทัศน์ที่ผมยกมา
แต่จากที่ผมติดตามข่าวสารในวงการแพทย์ และการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ผมคิดว่าความเป็นไปได้ที่การท่องเที่ยวระหว่างประเทศจะสะดุดจากการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 น่าจะน้อยมากๆ ครับ
ถ้าการท่องเที่ยวระหว่างประเทศจะสะดุดได้ น่าจะเกิดจากสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์มากกว่า แต่ผมไม่มีความรู้มากพอที่จะประเมินกรณีหลัง จึงขอโฟกัสที่เฉพาะฉากทัศน์ทางเศรษฐศาสตร์ในบทความนี้ โดยสรุป ผมยังเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยยังได้ไปต่อ แต่ต้องเตรียมรับมือกับอุบัติเหตุในระหว่างทาง ซึ่งภายในครึ่งแรกของปีหน้า เราน่าจะได้รู้กันครับ
แหล่งข่าว เศรษฐกิจไทยไปต่อ แต่ต้องระวังสามอุบัติเหตุ | ดอน นาครทรรพ, bangkokbiznews, 24 ต.ค. 2565
COMMENTS