น้ำมันปรับลงในวันพุธจากการกลับมาของไวรัสโควิด-19 และแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของเฟดที่อาจทำให้เกิดภาวะถดถอยและนำไปสู่อุปสงค์น้ำมันที่ลดลง
สัญญาฟิวเจอร์สน้ำมันดิบเบรนต์ร่วงลง 1.12 ดอลลาร์หรือ 1.2% สู่ 91.71 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังจากร่วงลง 3% ในช่วงก่อนหน้า สัญญาฟิวเจอร์สน้ำมันดิบ WTI ของสหรัฐลดลง 1.25 ดอลลาร์หรือ 1.4% อยู่ที่ 85.63 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
น้ำมันปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งในวันจันทร์หลัง OPEC+ ัออกมติลดกำลังการผลิตลง 100,000 บาร์เรลต่อวันในเดือนตุลาคม
เอ็ดเวิร์ด โมยา นักวิเคราะห์ตลาดอาวุโสของ OANDA กล่าวว่า “การลดกำลังการผลิตของ OPEC+ นั้นไม่ใช่เรื่องแปลกหากพิจารณาถึงแนวโน้มเศรษฐกิจทั่วโลก แม้ข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐจะออกมาดีเกินคาดก็ตาม”
ในด้านจีนที่ยังคงนโยบายซีโรโควิดนั้นก็กำลังส่งผลเชิงลบต่อน้ำมันเช่นกัน โดยทางการประกาศล็อคดาวน์เมืองสำคัญต่าง ๆ อาทิ เฉิงตู ซึ่งเป็นเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจด้วยจำนวนประชากรกว่า 21 ล้านคน
นักลงทุนยังจับตาการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจากธนาคารกลางสำคัญ โดยเริ่มจาก ECB ที่มีกำหนดประชุมในสัปดาห์นี้ และตามด้วยเฟดที่มีกำหนดประชุมในวันที่ 21 กันยายน ท่ามกลางการ price in การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างแข็งขัน
ดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง และขึ้นอีก 0.5% หลังรายงานผลอุตสาหกรรมการบริการของสหรัฐที่ออกมาดีเกินคาด ซึ่งก็กดดันราคาน้ำมันเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่หนุนราคาน้ำมันก็ยังมี สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐคาดว่าจะลดลงเป็นสัปดาห์ที่สี่ติดต่อกันโดยลดลงประมาณ 733,000 บาร์เรลในช่วงสัปดาห์ที่ถึงวันที่ 2 กันยายน ตามผลการสำรวจเบื้องต้นของรอยเตอรที่ออกมาเมื่อวันอังคาร
สต็อกน้ำมันดิบเชิงยุทธศาสตร์ของสหรัฐ (SPR) ลดลง 7.5 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่ 2 กันยายนเป็น 442.5 ล้านบาร์เรล ซึ่งต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 1984 ตามข้อมูลจากกระทรวงพลังงานสหรัฐ
อนึ่ง รายงานสต็อกน้ำมันจาก API และ EIA จะออกมาในวันพุธและพฤหัสบดีตามลำดับ ซึ่งช้ากว่าปกติ 1 วัน เนื่องจากวันจันทร์เป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์
แหล่งข่าว Oil falls on renewed demand concerns, rate hike expectations โดย Reuters
COMMENTS