เป็นไปตามคาดการณ์หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ปรับดอกเบี้ยนโยบายของไทยจาก 0.25% ขึ้นสู่ 1.75% ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวอาจไม่ใช่จุดที่สูงที่สุด โดยนักวิเคราะห์ต่างมองว่ากันว่า ดอกเบี้ยนโยบายของไทยมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นอีก 1 ครั้งที่ 0.25% ผลักดันให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยขึ้นทะลุ 2% ในช่วงกลางปีนี้ ปัจจัยสำคัญมาจากเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวยังรับกับดอกเบี้ยระดับสูงได้
ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ทางศูนย์วิจัยคาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง ในการประชุมครั้งถัดไป ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นสู่ระดับ 2.0% จากปัจจัยสนับสนุน มาจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยมีแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวชัดเจน โดย กนง. คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตต่อเนื่องโดยนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นถึง 28 ล้านคน จากเดิมที่คาดไว้ 25.5 ล้านคน ในการประชุมครั้งที่ 1/2566 เมื่อเดือน ม.ค. ใกล้เคียงกับที่ Krungthai COMPASS คาดว่านักท่องเที่ยวจะเข้ามา 27.1 ล้านคน
ทั้งนี้ กนง. มองว่าเงินเฟ้อมีความเสี่ยงที่จะอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาด และกังวลแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ที่อาจเพิ่มขึ้น ซึ่ง Krungthai COMPASS ประเมินว่า แม้อัตราเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่องจากผลของฐานในปีก่อนที่ปรับเพิ่มขึ้นและปัจจัยกดดันจากด้านต้นทุน (cost-push) เริ่มลดลง ซึ่งจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายภายในช่วงกลางปีนี้ และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (สัดส่วน 67.1% ในตะกร้าเงินเฟ้อ) ได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วเช่นกันจากราคาอาหาร (สัดส่วน 19.8%) ที่ชะลอตัวลงเนื่องจากผู้ประกอบการได้ทยอยส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นไปยังราคาอาหารในช่วงปี 2565 แล้ว โดยส่วนใหญ่ผู้ประกอบการมักปรับขึ้นราคาสินค้าครั้งเดียว จึงคาดว่าราคาอาหารอาจจะปรับเพิ่มขึ้นอีกได้ไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมอาหาร (สัดส่วน 47.3%) ยังไม่มีสัญญาณที่ชะลอลงและมีความเสี่ยงที่ผู้ประกอบการในบางภาคธุรกิจซึ่งแบกรับต้นทุนไว้อาจปรับราคาสินค้าขึ้นได้ อีกทั้ง ราคาสินค้าอาจถูกกดดันจากด้านอุปสงค์ (demand-pull)
แหล่งข่าว ขาขึ้นยังไม่จบนักวิเคราะห์ คาดดอกเบี้ยไทยขึ้นแตะ 2% ชี้เศรษฐกิจฟื้นตัวรับดอกเบี้ยสูงได้, ไทยรัฐ, 30 มี.ค. 2566
COMMENTS