SEARCH

ฐานะ ‘แบงก์ไทย’ แกร่ง ไม่หวั่นซ้ำรอยสหรัฐ-ยุโรป

GULF ควัก 340 ล้าน ลงทุนกองทุน Binance Labs”
ปูตินกล่าวว่าประเทศตะวันตกได้ทำร้ายเศรษฐกิจของตนเองด้วยการคว่ำบาตร
คนไทยเข้าสู่สังคมไร้เงินสด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า สัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย เดือน ม.ค. 2566 อยู่ที่ 189.49% สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด สัดส่วนเงินกองทุนอยู่ที่ 18.98%

ขณะที่เงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 15.93% และสัดส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของอยู่ที่ 15.39% สูงกว่าแบงก์ในสหรัฐ ซึ่งมีสัดส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น 15.16% เงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่ 13.69% และสัดส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ 12.37%

บล.กรุงศรี มองว่า การปิดกิจการSVB ส่งผลกระทบจำกัดต่อระบบธนาคารไทย เพราะไม่มีธนาคารพาณิชย์ไทยทำธุรกรรมโดยตรงกับ SVB และวิกฤตที่เกิดขึ้นคงไม่รุนแรงเท่ากับตอน เลห์แมน บราเธอร์ส เพราะ SVB มีขนาดสินทรัพย์เพียง 2.12 แสนล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนเพียงแค่ 0.9% ของสินทรัพย์รวมในระบบธนาคารของสหรัฐ และ 0.9% ของGDPสหรัฐ

ขณะที่สินทรัพย์ของเลห์แมน บราเธอร์ส ณ ตอนนั้น สูงถึง 6.91 แสนล้านดอลลาร์ คิดเป็น 6.4% ของสินทรัพย์รวมในระบบธนาคาร และ 4.8% ของจีดีพี

แม้ว่า SVB จะเป็นธนาคารอันดับ 16 ของสหรัฐเมื่อปีที่แล้ว แต่เล็กกว่ามากเมื่อเทียบกับ เลห์แมน บราเธอร์ส ซึ่งอยู่ใน 5 อันดับแรก เมื่อตอนที่เกิดปัญหา นอกจากนี้ SVB น่าจะมีส่วนเชื่อมโยงกับธนาคารใหญ่อื่นๆ ไม่มาก เพราะธุรกิจเน้นไปที่ลูกค้าสตาร์ทอัพกลุ่มเทคโนโลยี

ทั้งนี้ หากดูที่ฐานเงินทุน ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ของไทยมีฐานเงินทุนและโครงสร้างพอร์ตที่ดูดีกว่า SVB โดยมีสัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องสูงต่อเงินฝากอยู่ที่ 37.4% และเกือบ 60% ของสินทรัพย์สภาพคล่องเป็นเงินสด และการกู้ยืมระยะสั้นระหว่างธนาคารในตลาดเงิน ซึ่งดูแล้วมีความยืดหยุ่นและน่าจะสามารถรับมือกับการไหลออกของเงินฝากได้ดีกว่า SVB ซึ่งมีอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งหมดต่อสินทรัพย์เสี่ยง (CAR) อยู่ที่ 16.2%

และสัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องสูงต่อเงินฝากอยู่ที่ 23% แต่ปรากฎว่ากว่า 70% ของสินทรัพย์สภาพคล่องเป็นการลงทุนใน UST และตราสารหนี้ประเภทอื่นๆ ดังนั้น ผลขาดทุนที่ยังไม่รับรู้ของการลงทุนเหล่านี้ซึ่งอยู่ในรายการสินทรัพย์รอการขายที่เกิดขึ้นหลังจากที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลายรอบ และความไม่สอดคล้องของอายุตราสารหนี้ (maturing mismatch) คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้ SVB ประสบปัญหา

อย่างไรก็ตาม แม้ธนาคารจะมีฐานการเงินที่แข็งแกร่ง แต่ถ้าคนแห่ถอนเงินพร้อมๆ กัน ธนาคารอาจล้มได้อย่างง่ายดาย จึงมองว่า เหตุการณ์ Bank Run ที่เกิดขึ้นในสหรัฐจะเป็นสัญญาณเตือนให้ธนาคารพาณิชย์ไทยพิจารณาขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก โดยเฉพาะบัญชีเงินฝากกระแสรายวันและเงินฝากออมทรัพย์ในปีนี้

ด้านบล.หยวนต้า (ประเทศไทย) มองว่าหุ้นธนาคารไทยมีความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายในลักษณะเดียวกับ SVB ต่ำมาก เนื่องจากมีสัดส่วนลูกค้าธุรกิจเทคสตาร์ทอัพไม่มาก และยังเน้นดำเนินธุรกิจกับลูกค้าที่เป็นอุตสาหกรรมดั้งเดิม เช่น ธุรกิจการเงิน 25.3% ของสินเชื่อทั้งระบบ, อสังหฯ 14.5% ของสินเชื่อทั้งระบบและกลุ่มการผลิต 12.3% ของสินเชื่อทั้งระบบ

นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 1.5% ใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด ต่างจากสหรัฐที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายเร่งตัวขึ้นจนแตะระดับ 4.5-4.75% ใกล้เคียงกับช่วงวิกฤตซับไพร์ม

ทำให้ช่องทางการกู้เงินจากธนาคารหรือการออกหุ้นกู้ในไทยยังมีประสิทธิภาพและเป็นแหล่งเงินทุนให้กับผู้ประกอบการไทยได้ โดยไม่จำเป็นที่ภาคธุรกิจต้องเร่งถอนเงินสดและสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อใช้เป็นเงินทุนในการทำธุรกิจเหมือนในกรณีที่เกิดขึ้นกับ SVB ที่สำคัญธนาคารพาณิชย์ไทยยังมีจุดแข็งจากปริมาณเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง

แหล่งข่าว ฐานะ ‘แบงก์ไทย’ แกร่ง ไม่หวั่นซ้ำรอยสหรัฐ-ยุโรป, bangkokbiznews, 19 มี.ค. 2566

COMMENTS

WORDPRESS: 0
DISQUS: 0