SEARCH

สศอ. เผยดัชผลผลิตอุตฯ 9 เดือนแรก ขยายตัว 2.83% ตอบรับเศรษฐกิจฟื้นตัว

น้ำมันยึดแนวรับล่าสุดที่เส้นเฉลี่ย MA-200 วัน
“เวิลด์แบงก์” ปรับเพิ่ม “จีดีพีไทย” ปีนี้ โต 3.1% จาก 2.9%
หุ้นเอเชียผันผวน น้ำมันร่วงจากการแพร่ระบาดในจีน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกันยายน 2565 อยู่ที่ 97.90 ขยายตัวร้อยละ 3.36 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศและการส่งออก สะท้อนได้จากการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ติดต่อกัน รวมถึงการผลิตสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี อาทิ เบียร์ เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า และเครื่องประดับ

ประกอบกับสถานการณ์เงินเฟ้อมีทิศทางชะลอตัวลงต่อเนื่อง จากดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) หมวดสินค้าอุตสาหกรรมในเดือนกันยายน ที่ขยายตัวร้อยละ 7.9 ปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคมที่ขยายตัวร้อยละ 8.7 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดของปี 2565

นอกจากนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) เดือนกันยายน 2565 อยู่ที่ 19,710.60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 7.92 เมื่อเทียบกับช่วงปีก่อน เป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 22

นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกันยายน 2565 ขยายตัวร้อยละ 3.36 และไตรมาส 3 ปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 8.06 ส่งผลให้ 9 เดือนแรก ปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 2.83 โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกในเดือนกันยายน 2565 ได้แก่ ยานยนต์ จากรถบรรทุกปิกอัพ รถยนต์นั่งขนาดกลาง และรถยนต์นั่งขนาดเล็ก ที่มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นและสามารถผลิตได้ต่อเนื่อง น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวจากการเดินทางท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ หลังเปิดประเทศเต็มรูปแบบ และชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวตามการเติบโตของตลาดโลก

ทั้งนี้ จากการใช้เครื่องมือระบบเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย (EWS-IE) พบว่า คาดการณ์ดัชนี MPI เดือนตุลาคม 2565 ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง และทั้งปี 2565 คาดการณ์ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.5-2.5 มาจากแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้น การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวังและติดตาม ได้แก่ ค่าเงินบาทที่เคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าลง ตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) วิกฤตพลังงาน จากความผันผวนของราคาน้ำมัน ทำให้ต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมไทยเพิ่มขึ้น และทิศทางเศรษฐกิจโลกชะลอตัว จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวในหลายๆ ประเทศทั่วโลก รวมถึงการเกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป จีน และ ญี่ปุ่น

แหล่งข่าว สศอ. เผยดัชผลผลิตอุตฯ 9 เดือนแรก ขยายตัว 2.83% ตอบรับเศรษฐกิจฟื้นตัว, bangkokbiznews, 31 ต.ค. 2565

COMMENTS

WORDPRESS: 0
DISQUS: