SEARCH

เศรษฐกิจโลกถดถอย บาทแข็ง กดส่งออกไทยซึมยาว

นักลงทุนพร้อมสำหรับฤดูรายงานผลประกอบการของสหรัฐ หลังความกังวลเรื่องเงินเฟ้อพุ่ง
หุ้นเอเชียขึ้น กีวีดีดหลัง RBNZ ขึ้นดอกเบี้ย
ดอลลาร์สหรัฐอยู่ภายใต้แรงกดดันจากข้อมูลเงินเฟ้อ

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท.ประเมินว่าการส่งออกของไทยปี 2566 ยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างต่อเนื่อง จากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อหรือPMI ในตลาดหลักของไทยทั้ง สหรัฐ จีน และยุโรปลดลงต่ำกว่าระดับ 50 ส่งผลต่อกำลังซื้อลดลง ซึ่งเป็นไปตามคาดการณ์ไว้ จากตัวเลขการส่งออกในเดือนพ.ย.มีมูลค่า 22,308.0 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 6.0% และคาดว่า เดือน ธ.ค.ยังคงติดลบต่อเนื่องที่ 7.5% ส่งผลให้การส่งออกในปี 65 จะขยายตัวอยู่ที่ 6.3% ซึ่งการส่งออกของไทยยังจะซึมยาวและมีแรงเฉื่อย ไปจนถึงเดือน มี.ค.66 โดย สรท.ประเมินการส่งออกในไตรมาส 1 จะติดลบ 2.1% และไตรมาส 2 ติดลบ 2.7% ส่วนไตรมาส 3 จะขยายตัว 3.9% และไตรมาส 4 ขยายตัว 10.5% ทำให้การส่งออกทั้งปี 66 ขยายตัว 1-3

ทั้งนี้ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกไทย ประกอบด้วย 1.เศรษฐกิจโลกมีความผันผวนรุนแรงแบบไม่มีทิศทางที่ชัดเจน 2.สถานการณ์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (FOMC) อาจมีการชะลอหรือลดขนาดการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Rate) ลง ส่งผลให้นักลงทุนเริ่มกลับมาลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น ประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเข้ามาที่ไทยมากขึ้นเป็นเท่าตัว

3.ดัชนีภาคการผลิต หรือ PMI ในตลาดสำคัญเริ่มชะลอตัวอย่างต่อเนื่องและมีนัยะสำคัญ สะท้อนกำลังการผลิตและความต้องการของประเทศคู่ค้า 4. ราคาพลังงานที่เป็นต้นทุนหลัก ยังคงมีความผันผวนจากสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อต้นทุนภาคการผลิตโดยรวมทั่วโลกปรับขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อย่างไรก็ตามการส่งออกของไทยยังมีปัจจัยบวกมาจากสินค้าอุตสาหกรรมหลายกลุ่มของไทยขยายตัวไปในทิศทางที่ดี ทั้งกลุ่มอาหาร น้ำตาล รถยนต์และชิ้นส่วนประกอบ อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ขณะที่ปีนี้จะไม่มีปัญหาเรื่องของค่าระวางเรือ เรือขนส่ง ให้กังวลเนื่องจากราคาขนส่งลดลง เรือมีเพียงพอ ส่วนราคาน้ำมันปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 80-90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ทั้งนี้ สรท.มีข้อเสนอแนะคือ 1. ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทให้สอดคล้องกับประเทศคู่ค้าและคู่แข่งที่สำคัญ รวมถึงพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไป 2. ขอให้ช่วยชะลอหรือกำกับดูแลมาตรการภาครัฐใหม่ หรือยกเลิกมาตรการเดิมที่เป็นเหตุให้มีการเพิ่มต้นทุนกับผู้ประกอบการ ผู้ผลิต ให้น้อยลง เพื่ออำนวยความสะดวกและลดภาระด้านต้นทุนให้ผู้ประกอบการสามารถรักษาระดับราคาสินค้าให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาดและกำลังซื้อของผู้บริโภค เช่น กำกับดูแลค่าไฟฟ้า ค่าพลังงาน (น้ำมัน) และค่าแรงขั้นต่ำ เป็นต้น

3. สนับสนุนและเร่งรัด ความต่อเนื่องของการเจรจา FTA อาทิ TH-EU / TH-GCC (กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง) และ 4. ขอให้เร่งขยายมาตรการ Soft power สินค้าอัตลักษณ์ไทย เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและสามารถสร้างโอกาสในการขยายตลาดใหม่มากขึ้น

แหล่งข่าว เศรษฐกิจโลกถดถอย บาทแข็ง กดส่งออกไทยซึมยาว, bangkokbiznews, 10 ม.ค. 2566

COMMENTS

WORDPRESS: 0
DISQUS: