SEARCH

เศรษฐกิจโลก “ป่วน” !!

น้ำมันร่วงจากความกังวลในจีน IMF เตือนการชะลอตัว
จ่อชง ครม.เคาะ เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5!!
น้ำมันขยับลงจากความกังวลเกี่ยวกับอุปสงค์และอุปทานที่ตึงตัว

“ไอเอ็มเอฟ” ออกมาตอกย้ำสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในขณะนี้ว่า “ย่ำแย่ลงอย่างมาก” ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ทั้งมีความเป็นไปได้สูงที่เศรษฐกิจโลกอาจจะถดถอยในปี 2566 นั่นทำให้ ไอเอ็มเอฟ เตรียมปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกสำหรับปี 2565

ซึ่งเป็นการปรับครั้งที่ 3 ของปีนี้ ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ส่งผลมีมากมาย ทั้งอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเป็นวงกว้าง การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มมากขึ้น การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนที่ชะลอลง รวมถึงการเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรที่เกี่ยวข้องกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน

ข้อมูลเศรษฐกิจเมื่อไม่นานมานี้ แสดงให้เห็นว่า ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่บางแห่ง รวมถึง “จีน” และ “รัสเซีย” เศรษฐกิจได้หดตัวลงในไตรมาส 2 ของปีนี้ เน้นย้ำว่า ความเสี่ยงจะเพิ่มสูงขึ้นในปี 2566

ส่งผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยเพิ่มสูงขึ้นในปีหน้า ความเห็นของ ไอเอ็มเอฟ มีขึ้นหลังธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจโลกปี 2565 เหลือเพียง 2.9% จากเมื่อเดือน ม.ค.ที่คาดว่า จีดีพีจะเติบโต 4.1%

ธนาคารโลก ให้ข้อมูลว่า สงครามรัสเซียยูเครนทำให้การลงทุน และการค้าหยุดชะงัก ความต้องการสินค้าอุปโภคเริ่มลดลง รวมถึงการเริ่มยกเลิกมาตรการสนับสนุนทางการเงินในช่วงการระบาดของโควิด

ไม่เพียงเท่านั้น โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นดีพี) ยังคาดการณ์ว่า ปัจจุบันมีผู้คนเพิ่มขึ้นอีก 51.6 ล้านคน ที่กำลังใช้ชีวิตอยู่อย่างยากจน หรือมีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ความยากจนที่ 1.90 ดอลลาร์ต่อวัน เพิ่มขึ้นจาก 8.3% มาแตะที่ 9% ของประชากรโลก

เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น ข้อมูล ระบุว่า จำนวนผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าระดับ 3.20 ดอลลาร์ต่อวัน เพิ่มขึ้นเกือบ 20 ล้านคน ส่งผลให้ตัวเลขสะสมแตะ 71.5 ล้านคน

เศรษฐกิจโลกที่ปั่นป่วนขนาดนี้ เป็นโจทย์หินที่ “ไทย” ต้องเร่งหามาตรการรับมือ สกัดความเสี่ยง เฉพาะวิกฤติในประเทศที่หนักหนา สาหัสอยู่แล้ว ทั้งภาคพลังงาน เงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย ค่าครองชีพที่แพง

หากยังต้องเจอแรงเหวี่ยงจากเศรษฐกิจโลกพุ่งเข้ามาอีก เราจะรับมืออย่างไร ขณะที่ ตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มหาวิทยาลัยหอการค้าได้ทำการสำรวจล่าสุด แม้พบว่า ตัวเลขความเชื่อมั่น “ปรับตัวดีขึ้น” เป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน จากปัจจัยโควิดคลี่คลาย รัฐผ่อนปรนมาตรการ ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นไตรมาส 3

หากผู้บริโภคยังคงมีข้อกังวล เกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ รวมถึงปัญหาค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงความกังวลอย่างมาก เกี่ยวกับสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย และยูเครน ที่อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันโลก มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น และกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า

อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลก รวมถึงไทยให้ช้าลง หรือชะลอตัว ห้วงเวลานี้จึงเป็น “จุดวิกฤติ” ที่ไทยต้องผ่านให้ได้ รัฐบาลต้องไม่นิ่ง การขยับนโยบาย หรือมาตรการที่รองรับความเสี่ยงควรเกิดขึ้นได้แล้ว

แหล่งข่าว เศรษฐกิจโลก “ป่วน” !!, bangkokbiznews, 8 ก.ค. 2565

COMMENTS

WORDPRESS: 0
DISQUS: 0