นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท.ประเมินว่าการส่งออกของไทยปี 2566 ยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างต่อเนื่อง จากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อหรือPMI ในตลาดหลักของไทยทั้ง สหรัฐ จีน และยุโรปลดลงต่ำกว่าระดับ 50 ส่งผลต่อกำลังซื้อลดลง ซึ่งเป็นไปตามคาดการณ์ไว้ จากตัวเลขการส่งออกในเดือนพ.ย.มีมูลค่า 22,308.0 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 6.0% และคาดว่า เดือน ธ.ค.ยังคงติดลบต่อเนื่องที่ 7.5% ส่งผลให้การส่งออกในปี 65 จะขยายตัวอยู่ที่ 6.3% ซึ่งการส่งออกของไทยยังจะซึมยาวและมีแรงเฉื่อย ไปจนถึงเดือน มี.ค.66 โดย สรท.ประเมินการส่งออกในไตรมาส 1 จะติดลบ 2.1% และไตรมาส 2 ติดลบ 2.7% ส่วนไตรมาส 3 จะขยายตัว 3.9% และไตรมาส 4 ขยายตัว 10.5% ทำให้การส่งออกทั้งปี 66 ขยายตัว 1-3
ทั้งนี้ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกไทย ประกอบด้วย 1.เศรษฐกิจโลกมีความผันผวนรุนแรงแบบไม่มีทิศทางที่ชัดเจน 2.สถานการณ์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (FOMC) อาจมีการชะลอหรือลดขนาดการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Rate) ลง ส่งผลให้นักลงทุนเริ่มกลับมาลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น ประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเข้ามาที่ไทยมากขึ้นเป็นเท่าตัว
3.ดัชนีภาคการผลิต หรือ PMI ในตลาดสำคัญเริ่มชะลอตัวอย่างต่อเนื่องและมีนัยะสำคัญ สะท้อนกำลังการผลิตและความต้องการของประเทศคู่ค้า 4. ราคาพลังงานที่เป็นต้นทุนหลัก ยังคงมีความผันผวนจากสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อต้นทุนภาคการผลิตโดยรวมทั่วโลกปรับขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อย่างไรก็ตามการส่งออกของไทยยังมีปัจจัยบวกมาจากสินค้าอุตสาหกรรมหลายกลุ่มของไทยขยายตัวไปในทิศทางที่ดี ทั้งกลุ่มอาหาร น้ำตาล รถยนต์และชิ้นส่วนประกอบ อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ขณะที่ปีนี้จะไม่มีปัญหาเรื่องของค่าระวางเรือ เรือขนส่ง ให้กังวลเนื่องจากราคาขนส่งลดลง เรือมีเพียงพอ ส่วนราคาน้ำมันปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 80-90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ทั้งนี้ สรท.มีข้อเสนอแนะคือ 1. ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทให้สอดคล้องกับประเทศคู่ค้าและคู่แข่งที่สำคัญ รวมถึงพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไป 2. ขอให้ช่วยชะลอหรือกำกับดูแลมาตรการภาครัฐใหม่ หรือยกเลิกมาตรการเดิมที่เป็นเหตุให้มีการเพิ่มต้นทุนกับผู้ประกอบการ ผู้ผลิต ให้น้อยลง เพื่ออำนวยความสะดวกและลดภาระด้านต้นทุนให้ผู้ประกอบการสามารถรักษาระดับราคาสินค้าให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาดและกำลังซื้อของผู้บริโภค เช่น กำกับดูแลค่าไฟฟ้า ค่าพลังงาน (น้ำมัน) และค่าแรงขั้นต่ำ เป็นต้น
3. สนับสนุนและเร่งรัด ความต่อเนื่องของการเจรจา FTA อาทิ TH-EU / TH-GCC (กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง) และ 4. ขอให้เร่งขยายมาตรการ Soft power สินค้าอัตลักษณ์ไทย เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและสามารถสร้างโอกาสในการขยายตลาดใหม่มากขึ้น
แหล่งข่าว เศรษฐกิจโลกถดถอย บาทแข็ง กดส่งออกไทยซึมยาว, bangkokbiznews, 10 ม.ค. 2566
COMMENTS