SEARCH

De-Dollarization คืออะไร และทำไม ‘ดอลลาร์’ ยังจะเป็นสกุลเงินหลักของโลก

น้ำมันฟื้นเล็กน้อยหลังข่าวการเข้าอุ้ม Credit Suisse
ตลาดจับตา OPEC+ จะลดกำลังการผลิตหรือไม่และแค่ไหน
ทองคำ น้ำมันขึ้นจากวิกฤตในยูเครน หุ้นสหรัฐทรงตัว

ไทเลอร์ โคเวน (Tyler Cowen) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันแสดงความคิดเห็นผ่านบทความ “What De-Dollarization? The Dollar Rules the World” บนเว็บไซต์ของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) ว่า จากการประเมินของ Bank of Internation Settlement ดอลลาร์คิดเป็นสัดส่วนถึง 88% ของธุรกรรมระหว่างประเทศทั้งหมด โดยนักวิเคราะห์บางท่านกลัวว่าสหรัฐจะไม่สามารถรั้งตำแหน่งดังกล่าวไว้ได้ ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งตั้งคำถามว่า การที่ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นจะไม่ส่งผลเสียต่อภาคการส่งออก หรือภาคการจ้างงานของสหรัฐหรือ?

โดยเรื่องนี้กลายเป็นประเด็นขึ้นมาเมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการที่รัสเซียถูกตัดออกจากเครือข่ายการเงินที่ใช้ดอลลาร์เป็นตัวกลาง ซึ่งเป็นผลจากคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก ส่วนประเทศอื่นๆ อย่างบราซิล อินเดีย และซาอุดีอาระเบียต่างลดความสำคัญของดอลลาร์ในฐานะเงินสำรองระหว่างประเทศ หรือ “De-dollarization” ลง

ทว่า ผู้เขียนอยากให้ลองพิจารณา “ดอลลาร์” ในฐานะสินค้าหรือบริการที่สหรัฐผลิตขึ้นมา เช่นเดียวกับที่จีนผลิตโทรศัพท์หรือญี่ปุ่นผลิตรถยนต์ เมื่อชาวอเมริกันซื้อขาย (Trade) ดอลลาร์สําหรับสินค้า และบริการต่างประเทศ นั้นก็นับว่าสหรัฐขาดดุลทางการค้า (Trade Deficit)

อย่างไรก็ตาม เราก็สามารถเปลี่ยนมุมมองได้ว่า อเมริกาส่งออกสินค้า และบริการในรูปแบบ “ดอลลาร์” แทน หรือพูดง่ายๆ คือ มองว่าดอลลาร์เป็น “แบรนด์” หนึ่งของประเทศ เช่นเดียวกับธุรกิจเสื้อผ้าสัญชาติอเมริกันอย่างซาร่า (Zara) หรือ แก็ป (Gap)

เพื่อให้กระจ่างมากขึ้น บางครั้งการขายสินค้าหรือบริการอย่างใดอย่างหนึ่งอาจถูกมองในแง่ลบได้ หรือบางครั้งก็เป็นเฉดสีเทา เช่นเดียวกันกับเศรษฐกิจของเวเนซุเอลาที่ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับรายได้จากน้ำมัน และด้วยความที่ราคาสินค้าดังกล่าวที่ไม่แน่นอน รายได้ของเวเนซุเอลาจึงไม่มีเสถียรภาพ ทั้งหมดเป็นแบบเดียวกันกับความต้องการ (Demand) เงินดอลลาร์ ทั้งหมดทำให้ผู้เขียนมองว่าอนาคตของเงินดอลลาร์จะยังสดใสและปลอดภัย ส่วนหนึ่งเพราะสถานการณ์ความไม่แน่นอนจากความขัดแย้งในยูเครน และความทะเยอทะยานของจีน

ทั้งนี้ หากจะมีอันตรายใดๆ เกิดขึ้น อันตรายนั้นก็อาจคือ การอภิปรายเกี่ยวกับ “อัตราเพดานหนี้” ที่จัดขึ้นในวอชิงตันช่วงนี้ ซึ่งท้ายที่สุดอาจส่งผลร้ายแรงให้สหรัฐผิดนัดชำระหนี้ก็ได้

อย่างไรก็ดี แม้ว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นนั้น แต่ทั้งหมดก็ไม่ใช่ข้ออ้างในการปรักปรำว่า อํานาจของดอลลาร์ (Dollar Hegemony) จะเสื่อมถอยลง แต่ผู้เขียนมองว่ามันเป็นเพียงเครื่องพิสูจน์ความโง่เขลาของการเมืองของอเมริกามากกว่า

ทั้งนี้ ในกรณีที่ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ก็จะทําให้อเมริกาส่งออกสินค้าและบริการอื่นๆ ได้ยากขึ้น แต่ข้อเท็จจริงข้างต้นก็ไม่ได้เป็นข้อเท็จจริงที่พิเศษหรือเป็นเรื่องที่ไม่เป็นที่ต้องการ ตัวอย่างเช่น หากเกาหลีใต้ส่งออกโทรศัพท์ซัมซุง (Samsung) มากขึ้น นั่นจะทำให้ค่าแรง และค่าเงินวอนปรับตัวสูงขึ้น ในทางกลับกันก็ทําให้เกาหลีใต้ส่งออกสินค้าทางเลือกเช่น K-pop ได้ยากขึ้นเช่นเดียวกัน (เพราะประเทศอื่นต้องจ่ายค่าซื้อบริการที่แพงขึ้น)

โดยในทุกๆ ประเทศ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันย่อมต้องแข่งขันกันเพื่อแย่งชิงทรัพยากร เงินทุน และความสนใจอยู่แล้ว และนั่นเป็นเพียงภาพประกอบของข้อเท็จจริงพื้นฐานทางเศรษฐกิจของความขาดแคลน (The Basic Economic Fact of Scarcity) เท่านั้น โดยหากดอลลาร์เป็นที่ต้องการมากขึ้นก็จะถือเป็นข้อพิสูจน์ถึงประวัติศาสตร์ของอเมริกาในฐานะ “สัญญาณของความมั่นคงสัมพัทธ์” (Relative Stability)

คำถามต่อไปคือ บทสนทนาเรื่องการลดค่าเงินดอลลาร์จะดําเนินการไปไกลแค่ไหน? คำตอบของผู้เขียนคือก็อาจจะไปได้ไม่ไกลมาก เพราะสหรัฐอเมริกายังมีตลาดการเงินที่ฝังรากลึกที่สุด และมีสภาพคล่องมากที่สุดในโลก รวมทั้งยังคงค่อนข้างเปิดกว้าง และเสรี แม้จะมีข้อจํากัดบางประการเกี่ยวกับการลงทุนในอุตสาหกรรมที่อ่อนไหวต่อความมั่นคงของชาติจากประเทศจีน โดยปัจจุบันก็ยังมีเหตุผลที่มากพอที่จะอธิบายว่าดอลลาร์จะยังโดดเด่นในตลาดการเงินต่างประเทศต่อไป เช่นเดียวกับที่มีเหตุผลที่แข็งแกร่งมากมายที่ว่าทำไมดอลลาร์จึงเป็นสกุลเงินที่โดดเด่นในการทำธุรกรรมภายในประเทศ

ทั้งนี้ จากสถิติที่ว่าดอลลาร์มีส่วนถึง 88% ของธุรกรรมระหว่างประเทศทั้งหมด ในขณะที่เงินยูโรอยู่ที่ 31% ซึ่งนับเป็นอัตราการแข่งขันที่เล็กน้อย (เนื่องจากการทําธุรกรรมอาจเกี่ยวข้องกับสองสกุลดังนั้นยอดรวมอาจเกิน 100%) ทั้งนี้ เงินยูโรไม่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลแห่งชาติเดียว (A Single National Government) และสหภาพยุโรป (EU) จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกับอํานาจทางทหารสหรัฐ

แหล่งข่าว De-Dollarization คืออะไร และทำไม ‘ดอลลาร์’ ยังจะเป็นสกุลเงินหลักของโลก, bangkokbiznews, 17 เม.ย. 2566

COMMENTS

WORDPRESS: 0
DISQUS: 0