SEARCH

“เงินเฟ้อ” ไม่ได้ทำให้ของแพง.. “ของแพง” ต่างหาก ที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อ!

จีนกำลังอยู่ภายใต้แรงกดดัน
ปีแห่งการเริ่มฟื้นหรือเริ่มต้นวิกฤติที่ต้องรับมือ
Bitcoin ถอยออกจากขอบบนของช่องขาขึ้น

คำกล่าวเกี่ยวกับ “เงินเฟ้อ” ที่มักได้ยินกันจนคุ้นหูอย่าง เงินเฟ้อทำให้ของแพง แท้จริงแล้วเป็นเช่นนั้นหรือไม่ แล้วเหตุใดเมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อ เราจึงซื้อของได้น้อยลง ข้อเท็จจริงทั้งหมดคืออะไร ร่วมหาคำตอบได้ในบทความนี้

เราเคยสงสัยกันหรือไม่ว่า “เงินเฟ้อ” คืออะไร และเกิดขึ้นมาได้อย่างไร หลายคงอาจเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า เงินเฟ้อทำให้ข้าวของแพง ทั้งยังทำให้เงินจำนวนเท่าเดิมซื้อของได้น้อยลงอีกด้วย

แม้ว่าคำกล่าวเกี่ยวกับเงินเฟ้อดังข้างต้น จะถูกยอมรับกัน และบอกต่อกันเป็นวงกว้าง แต่รู้หรือไม่ว่า ความเข้าใจนั้นมีบางส่วนที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงของเงินเฟ้อไป!

พอมาถึงตรงนี้ คงมีหลายคนเริ่มสงสัยว่า แล้วข้อเท็จจริงของลักษณะเงินเฟ้อคืออะไร ซึ่งทั้งหมดสามารถร่วมหาคำตอบได้จากข้อมูลด้านล่างนี้

“เงินเฟ้อ” ทำให้ของแพงจริงหรือไม่?

อย่างที่เกริ่นไปแล้วในข้างต้นว่า หลายคนมักเข้าใจว่า เงินเฟ้อทำให้เกิดของแพง แต่ใช่ที่ไหนล่ะ เพราะที่จริงแล้ว ของแพงขี่ม้าเร็วมาก่อนเงินเฟ้อเสียอีก

หากอธิบายด้วยหลักการจะได้ว่า เงินเฟ้อ (Inflation) คือ “ตัวชี้วัด” ถึงสถานการณ์ที่ระดับราคาสินค้าและบริการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น หรือง่ายๆ เลยคือ เจ้าเงินเฟ้อทำหน้าที่เป็นสัญญาณบอกเราว่าช่วงนี้ข้าวของแพงนะ

ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น เพราะเงินเฟ้อยังสามารถบอกถึงระดับความรุนแรงของสถานการณ์ข้าวของแพงได้อีกด้วย โดยจะแสดงผลผ่านตัวเลข “อัตราเงินเฟ้อ” (Inflation rate) ซึ่งตัวเลขยิ่งสูง ยิ่งหมายถึงสถานการณ์ข้าวของแพงที่เลวร้ายมากเท่านั้น

พอมาถึงตรงนี้ หลายคนที่เคยเชื่อว่าเงินเฟ้อทำให้เกิดของแพงชักเริ่มงง ถ้าของแพงไม่ได้เกิดจากเงินเฟ้อ แล้วมันเกิดจากอะไรกัน?

เรื่องนี้ ตอบให้เข้าใจอย่างง่ายๆ คือ ของแพงเกิดขึ้นจากความไม่เท่ากันระหว่างความต้องการซื้อสินค้าและปริมาณสินค้าที่มีอยู่ในตลาด ยกตัวอย่างเช่น สถานการณ์หมูแพงช่วงต้นปี เกิดจากหมูจำนวนหนึ่งติดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever) หรือ “ASF” จึงต้องทำลายทิ้งเป็นจำนวนมาก ทำให้ปริมาณเนื้อหมูในตลาดลดลง แต่คนก็ยังมีความต้องการซื้อหมูกินอยู่เท่าเดิม ราคาหมูจึงปรับตัวสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ความเข้าใจที่บอกว่า “เงินเฟ้อทำให้ของแพง” นั้น คาดว่าน่าจะเกิดมาจากการที่ราคาสินค้าหนึ่งแพงขึ้น แล้วคนหันไปซื้อสินค้าอื่นแทน ซึ่งก็จะมีผลให้สินค้าอื่นแพงขึ้นตามไปด้วย อย่างช่วงที่หมูแพง หลายคนก็คงได้เจอกับตัวว่า เนื้อสัตว์ชนิดอื่นก็แพงตามไปด้วย อาทิ ไก่และเป็ด เป็นต้น

ทำความเข้าใจกับเงินเฟ้อให้มากขึ้น ผ่านความหมายของคำว่า “เงิน”

ก่อนจะรู้จักเงินเฟ้อมากยิ่งขึ้น อยากจะขอนำทุกคนย้อนกลับไปทำความเข้าใจของคำว่า “เงิน” กันก่อน โดยอยากจะถามทดสอบความเข้าใจเบื้องต้นว่า คุณคิดว่าเงินมีค่าหรือไม่

จากคำถามดังกล่าว จริงๆ แล้วจะตอบว่า มีค่า หรือ ไม่มี ก็ถูกทั้งคู่ แต่คำอธิบายของคำตอบนี้ต่างหากที่จะบอกว่าคุณเข้าใจคำว่าเงินดีขนาดไหน

“เงิน” นิยามของมันคือ สื่อกลางที่ใช้แลกเปลี่ยนเป็นสินค้าและบริการ เงินจะมีค่าก็ต่อเมื่อสามารถใช้เปลี่ยนไปเป็นสิ่งของต่างๆ ได้ ซึ่งหมายความว่า เงินไม่ได้มีค่าโดยตัวมันเอง การที่เราเก็บเงินไว้ ก็เกิดขึ้นเพื่อสำรองไว้ใช้เปลี่ยนเป็นสินค้าและบริการในเวลาที่ต้องการ ซึ่งหากเงินไม่สามารถทำหน้าที่ของมันตามนิยามนี้ได้ มันก็จะไม่ต่างอะไรกับเศษกระดาษเลย

ด้วยนิยามนี้ จึงทำให้เราเข้าใจได้ว่า เพราะเหตุใดเมื่อเกิดเงินเฟ้อจึงถูกอธิบายได้ด้วย “มูลค่าที่แท้จริงของเงิน” โดยอธิบายได้ดังนี้

เมื่อเงินมีค่าเพียงใช้แลกเปลี่ยนเป็นสินค้า เวลาที่สินค้าถูกผลิตออกมามีน้อยกว่าความต้องการซื้อของผู้คน เลยจำเป็นต้องใช้เงินมากขึ้น เพื่อให้สามารถซื้อสินค้านั้นได้ เนื่องจากการตั้งราคาค่าตัวที่สูงขึ้นตามความต้องการ ซึ่งการที่ต้องใช้เงินมากขึ้นเพื่อให้ได้ซื้อสินค้านี้ มูลค่าที่แท้จริงของเงินจึงลดลง

ยกตัวอย่างเช่น ในสถานการณ์ปกติเราซื้อเนื้อหมูด้วยเงินจำนวน 100 บาทต่อกิโลกรัม ต่อมาเมื่อหมูขาดตลาด ราคาหมูจึงแพงขึ้นเป็น 200 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นผลให้เงินจำนวนเท่าเดิมไม่สามารถซื้อหมูในปริมาณ 1 กิโลกรัมเท่าเดิมได้แล้ว

สถานการณ์ข้างต้นนี้คือ เรายังมีจำนวนเงินเท่าเดิม เพียงแต่มูลค่าที่แท้จริงนั้นลดลง เพราะมูลค่าที่แท้จริงของเงินนั้นขึ้นอยู่กับการแลกเปลี่ยนเป็นสินค้าหรือบริการ

ฉะนั้น การที่เราใช้เงินเท่าเดิมแต่กลับซื้อสินค้าได้น้อย จึงเป็นการบอกถึงเศรษฐกิจที่กำลังเจอกับภาวะเงินเฟ้อ หรือภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการปรับตัวขึ้นสูง ซึ่งมีผลกระทบต่อคนธรรมดาอย่างเราๆ เพราะมูลค่าเงินที่แท้จริงในมือนั้นจะลดลง แม้จะมีจำนวนเท่าเดิมอยู่ก็ตาม

แหล่งข่าว “เงินเฟ้อ” ไม่ได้ทำให้ของแพง.. “ของแพง” ต่างหาก ที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อ!, bangkokbiznews, 21 มี.ค. 2565

COMMENTS

WORDPRESS: 0
DISQUS: 0